เอพี - ชาวบ้านในป่าของรัฐกะฉิ่นทางภาคเหนือของพม่า ยืนอยู่บนพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความมั่งคั่งของ “หยก” ที่มีมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ แต่กลับไม่ได้เห็นเงินสักก้อนจากหินล้ำค่านี้ที่ถูกขุดขึ้นจากใต้พื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่
ชาวบ้านสูญเสียที่ดิน บ้าน และชุมชนทั้งหมดให้แก่การทำเหมืองหยก อุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามากกว่า 30,000 ล้านดอลลาร์ในปีก่อน ตามการประเมินของ Global Witness องค์กรสอบสวนการทุจริตจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แต่ภูมิภาคนี้กลับมีการลงทุนเพียงเล็กน้อย ที่รถยนต์บนถนนสายหลักที่มุ่งหน้าไปยังเมืองหลวงยังจำเป็นต้องใช้ช้างดึงรถออกจากหล่มโคลน ขณะที่บริษัทรายใหญ่ที่มีเส้นสายเข้ากอบโกยหยกส่วนใหญ่ในพื้นที่ แต่นักขุดเหมืองมือสมัครเล่นมักตกอยู่ในความเสี่ยง และเสียชีวิตจากการขุดหาเศษหยก
ในพื้นที่แห่งหนึ่ง ชายหลายสิบคนทรงตัวอยู่ตามไหล่เขาที่เต็มไปด้วยดิน และหิน ใช้แท่งเหล็กจิ้มตามพื้นเพื่อเสาะหาหยก เมื่อรถบรรทุกขนาดใหญ่เท่าบ้านเทดินที่บรรทุกมา หินขนาดใหญ่เท่าลูกบาสเกตบอลก็กลิ้งลงมาจากท้ายรถบรรทุก และไหลลงพื้นลาดเอียง ทำให้บรรดาคนหาหยกที่สวมเสื้อสีสดต่างกระจายตัวหลบออกไปในทุกทิศทาง และหลังอันตรายจากดินที่ถูกถมทิ้งผ่านพ้นไปไม่นานนัก พวกเขาก็กลับมาค้นหาหยกตามพื้นดินอีกครั้ง
ในมุมหนึ่งของพื้นที่ 55 ตารางไมล์ ถูกเปลี่ยนรูปทรงคล้ายเสี้ยวพระจันทร์จากการทำอุตสาหกรรมเหมืองหยก มีหลายคนถูกฝังทั้งเป็นในเดือน พ.ค. เมื่อภูเขาลูกหนึ่งที่เต็มไปกองดินจากการทำเหมืองเกิดถล่ม ภาพที่ถ่ายโดยคนท้องถิ่นเผยให้เห็นร่างผู้เสียชีวิต 4 คน ถูกดึงออกจากกองดินเต็มไปด้วยฝุ่น และเลือด ผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้เป็นหนึ่งในหลายสิบคนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตในช่วงปีที่ผ่านมา
พม่าได้เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วง 4 ปี นับตั้งแต่รัฐบาลเผด็จการทหารเปิดทางให้รัฐบาลกึ่งพลเรือน และเริ่มเปิดประเทศสู่โลกภายนอก นับเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่สุดสำหรับเมืองผากัน (Hpakant) ศูนย์กลางอุตสาหกรรมหยกในรัฐกะฉิ่น ที่การทำเหมืองได้เปลี่ยนไปเป็นความบ้าคลั่ง การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ทำให้บริษัทท้องถิ่นนำเข้ากองทัพเครื่องจักรไม่ว่าจะเป็น Caterpillar Volvo Komatsu และ Liebherr ที่ใช้ขุด และลำเลียงตลอด 24 ชั่วโมงได้อย่างง่ายดาย
นักวิจัยเชื่อว่า หินสีเขียวเข้มสร้างความร่ำรวยให้บุคคล และบริษัทที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาลเผด็จการทหาร ความโลภ และขนาดของอุตสาหกรรมในความพยายามที่จะสกัดหยกเป็นเชื้อเพลิงที่โหมความขัดแย้งในรัฐกะฉิ่น และเพิ่มความสงสัยเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะปฏิรูปการเมือง และพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมนับตั้งแต่ยุติการโดดเดี่ยวประเทศในปี 2554
“หลายคนเสียชีวิตเพราะบริษัทเหมืองยักษ์ใหญ่เหล่านี้ เราเกลียดบริษัทเหล่านี้ เป็นเรื่องเจ็บปวดที่เห็นเครื่องจักรพวกนี้ และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นเครื่องขุดดิน เราคิดว่าพวกนี้คือฆาตกร” ไค รา สมาชิกของกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีก่อนหลังไม่ปรากฏความรับผิดชอบ หรือชดเชยให้แก่เด็กและผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตจากรถบรรทุก และดินถล่ม กล่าว
ในเดือน ม.ค. เกิดเหตุกองดินถล่มคร่าชีวิตคนหาหยกอย่างน้อย 30 คน ตามการระบุของ กอ โซ เล สมาชิกรัฐสภา เหตุโศกนาฏกรรมเช่นนี้แทบไม่เคยถูกบันทึกในเมืองผากัน และไม่มียอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการถูกประกาศออกมา
ทางการตรวจสอบอย่างระมัดระวังในพื้นที่แห่งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามชาวต่างชาติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเหตุปะทะระหว่างทหาร และกองกำลังอิสระที่หาทางปกครองตนเอง ซึ่งนอกเหนือไปจากฝน ก็มีเพียงการต่อสู้ของนักรบกะฉิ่นที่ขัดจังหวะการทำเหมือง สำนักงข่าวเอพีได้เข้าถึงพื้นที่เมืองผากันในปีนี้ และเข้าสัมภาษณ์ชาวบ้านพร้อมบันทึกภาพ
.
2
3
หยกมีราคาสูงในจีน และมีคุณค่ามากกว่าอัญมณีอื่นๆ ในปีก่อน สร้อยคอลูกปัดหยกขายได้ในราคา 27.4 ล้านดอลลาร์ ในการประมูลของบริษัทโซเธอบี ในฮ่องกง รายงานของ Global Witness ที่เผยแพร่ในวันศุกร์ (23) ประมาณการค้าหยกของพม่า ทั้งการค้าอย่างเป็นทางการและผิดกฎหมาย มีมูลค่า 31,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2557
Global Witness กล่าวว่า การสืบสวนตลอดปีเผยให้เห็นว่า ความมั่งคั่งของหยกถูกแบ่งในส่วนต่างๆ ที่ทับซ้อนกันของกองทัพ กลุ่มคนชั้นสูงในวงการเมือง และธุรกิจ มากกว่านำไปใช้ในการพัฒนาช่วยเหลือประเทศ
ไม่มีพื้นที่ส่วนใดของเมืองผากันที่ไม่ถูกแตะต้องโดยขบวนรถบรรทุก และรถขุดที่ใช้ขุดหาก้อนหยก ในฤดูแล้ง พื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยฝุ่น ส่วนฤดูฝน หมู่บ้านถูกน้ำท่วม แม่น้ำผากันที่มีขนาดเล็กไม่สามารถดูดซับน้ำที่ไหลมาอย่างมหาศาลจากพื้นดินที่ถูกกัดกร่อนจากการขุดหาหยกได้
“มีอุบัติเหตุหลากหลายรูปแบบเกิดขึ้น อาจเป็นดินถล่ม หินทับคน หรือน้ำท่วม ผู้คนประสบอุบัติเหตุจากเครื่องจักร บ่อยครั้งที่เราได้รับผู้ป่วยจากเหตุการณ์เช่นนี้” เย ตุน เจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลเมืองผากัน กล่าว
.
4
5 ความลับรอบอุตสาหกรรมหยกในพม่าทำให้ประเมินมูลค่าอย่างแม่นยำได้ยาก
ยอดจำหน่ายที่ศูนย์การค้าอัญมณีอย่างเป็นทางการมีมูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า จำนวนดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการผลิต ซึ่งส่วนมากเป็นการลักลอบ Ash Center ของฮาร์วาร์ด ประเมินเมื่อ 2 ปีกอนว่า ยอดจำหน่ายหยกมีมูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2554
การสืบสวนของ Global Witness ให้ตัวเลขประมาณการการผลิตเมื่อปีก่อนที่ 31,000 ล้านดอลลาร์ จากข้อมูลหลายแหล่งที่ประกอบด้วย ตัวเลขนำเข้าของจีนที่ระบุว่า นำเข้าหยกพม่าที่ 12,000 ล้านดอลลาร์ในปีก่อน รายงานการผลิตของรัฐบาลพม่า การประมาณอุตสาหกรรมของสัดส่วนการลักลอบ และส่งออกหยกอย่างเป็นทางการ ข้อมูลจากการประเมินราคาจากศูนย์จำหน่ายอย่างเป็นทางการ และการประเมินของ Ash Center
Global Witness กล่าวว่า การสืบสวนของกลุ่มเผยให้เห็นว่า บริษัททำเหมืองหลายสิบแห่งในเมืองผากันถูกควบคุมโดยผู้เล่นจำนวนเล็กๆ ที่รวมทั้งครอบครัวของอดีตเผด็จการตานฉ่วย กิจการที่กองทัพเป็นเจ้าของ รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน พ่อค้ายาเสพติด และกลุ่มธุรกิจที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลเผด็จการทหาร
“เกิดอะไรขึ้นต่อเงินจำนวนนั้น นั่นคือคำถามที่แท้จริง แน่นอนว่าไม่ได้ช่วยเหลือประชาชนของพม่า หรือประชาชนของรัฐกะฉิ่น” นักวิเคราะห์ของ Global Witness กล่าว
เกต ลา ลัต อายุ 43 ปี หนึ่งในแกนนำของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองผากัน กล่าวว่า พวกเขามีตัวเลือกไม่มาก แต่จะย้ายทั้งหมู่บ้านเมื่อเหมืองเริ่มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่
“มันไม่่ใช่แค่หมู่บ้านของเรา แต่เกิดขึ้นกับทุกหมู่บ้าน พวกเขาเพียงแค่ทิ้งดินไว้ทั่ว และทำลายถนนของเรา ตอนนี้คุณอาจกำลังอยู่บนถนนแต่วันต่อมาถนนก็หายไปแล้ว พวกเขาทำลายทุกอย่าง เหมือนกับว่าเราที่เป็นคนท้องถิ่นกำลังใช้ถนนของพวกเขา” ลา ลัต กล่าว.