รอยเตอร์ - กัมพูชาตกลงในวันนี้ (8) ที่จะปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานในภาคการผลิตรองเท้าและตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ที่เป็นภาคส่วนสำคัญของประเทศ เป็น 140 ดอลลาร์ต่อเดือน ตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป แต่ยังเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่สหภาพแรงงานเรียกร้อง
การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นหลังการลงมติในหมู่ตัวแทนจากรัฐบาล โรงงาน และสหภาพแรงงาน ซึ่งเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนการปรับเพิ่มจากเดิม 128 ดอลลาร์เป็น 135 ดอลลาร์ และรัฐบาลได้ปรับเพิ่มให้เป็น 140 ดอลลาร์ (ประมาณ 5,040 บาท ในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ต่อ 36 บาท)
ค่าแรงสำหรับผู้คนกว่า 600,000 คน ที่ทำงานให้โรงงานซึ่งส่วนใหญ่ชาวเอเชียเป็นเจ้าของ ผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าให้ให้กับยี่ห้อต่างๆ เช่น Gap Adidas H&M และ Inditex ได้กลายเป็นปัญหายุ่งยากในกัมพูชา
ภาคส่วนที่มีมูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศ แต่การผละงานประท้วงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นได้สร้างความวิตกให้กับบรรดาแบรนด์สินค้าต่างๆ ที่ถูกชักชวนเข้าลงทุนด้วยเงื่อนไขค่าแรงที่ต่ำกว่าจีน
สหภาพแรงงานเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำที่ 160 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งลดลงจากข้อเรียกร้องเดิมที่ตั้งไว้ 177 ดอลลาร์ และขู่ว่าจะผละงานประท้วง แต่ยังไม่ชัดเจนว่าพวกเขาจะดำเนินการตามที่ระบุไว้หรือไม่
"ตัวเลขนี้ถือว่าเหมาะสมและยอมรับได้ แม้ไม่เป็นที่ยอมรับของทุกคน แต่เราไม่มีทางเลือก" อิธ สัม เฮง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน กล่าวกับผู้สื่อข่าว
อิธ สัม เฮง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฮุนเซนตัดสินใจด้วยตัวเองที่จะเพิ่มค่าแรงจากที่ตกลงกันไว้อีก 5 ดอลลาร์
การเติบโตของภาคสิ่งทอเป็นหนึ่งในความสำเร็จของฮุนเซน แต่รัฐบาลของเขาได้ปะทะกับสหภาพแรงงานหลายครั้งและดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อการชุมนุมประท้วงที่มองว่าสหภาพแรงงานสนับสนุนฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของเขา
อัธ ธน ประธานกลุ่มพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตยคนงานเครื่องแต่งกายกัมพูชา กล่าวตำหนิโรงงานและสหภาพแรงงานบางกลุ่มที่เข้าข้างรัฐบาล
"เราจะประชุมหารือกับเพื่อนร่วมงานของเราถึงสิ่งที่เราจะทำต่อจากนี้ เราไม่ประสบความสำเร็จในการลงคะแนนเสียงเพราะคนส่วนใหญ่เอนเอียงการเมืองไปเข้ากับรัฐบาลและบริษัทต่างๆ" อัธ ธน กล่าว
รัฐบาลพยายามที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันและเสถียรภาพ แม้ว่าค่าแรงของกัมพูชายังคงอยู่ในระดับต่ำ แต่กัมพูชาต้องเผชิญกับการแข่งขันรุนแรงจากเวียดนาม ที่เมื่อปีก่อนส่งออกเสื้อผ้าและรองให้ยี่ห้อเดียวกันกับที่ใช้โรงงานในกัมพูชาเป็นมูลค่าถึง 31,000 ล้านดอลลาร์
และสิ่งทอเวียดนามที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดของกัมพูชา จะได้สิทธิปลอดภาษีเมื่อข้อตกลง TPP มีผลบังคับใช้
"หากอุตสาหกรรมมีทีท่าจะย่ำแย่ ผมคิดว่าผู้ที่จะต้องรับผิดชอบส่วนใหญ่คงจะต้องเป็นตัวสหภาพแรงงานเอง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผู้ซื้อไม่ยอมรับราคาที่สูงขึ้น" เคน ลู เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้ากัมพูชาในกัมพูชา กล่าว.