รอยเตอร์ - ระบบราชการที่ล่าช้า และความสับสน ทำให้ชาวพม่าส่วนใหญ่ที่ทำงานในต่างประเทศมากกว่า 2 ล้านคน ไม่สามารถลงทะเบียนเพื่อลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเสรีครั้งแรกนับตั้งแต่สิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลทหาร
บรรดาแรงงาน และนักเคลื่อนไหวกล่าวโทษระบบราชการ ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับกำหนดเวลาวันสุดท้ายของการลงทะเบียน และการขาดเอกสาร รวมทั้งสถานทูตพม่าที่ไม่พยายามแจ้งผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงเกี่ยวกับการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย.
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของอองซานซูจี คาดว่าจะชนะการเลือกตั้งที่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในภูมิทัศน์ทางการเมืองของพม่า ที่ให้เวทีแก่นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย หลังถูกขัดขวางในช่วงการปกครองของทหารซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2554
ยังไม่แน่ชัดในทันทีว่า การลงทะเบียนต่ำจะมีผลถึงผลเลือกตั้ง แต่ชาวพม่าในต่างแดนส่วนใหญ่ที่หลบหนีการปกครองของทหารดูไม่น่าจะเป็นผู้สนับสนุนของพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ที่เป็นพรรครัฐบาล
ผู้อพยพจำเป็นต้องจัดหาเอกสารหลายอย่างเพื่อยืนยันสิทธิลงคะแนนเสียง รวมทั้งสำเนารายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งของตัวเอง ที่นักเคลื่อนไหวระบุว่า เป็นเอกสารที่เกือบเป็นไปไม่ได้ที่แรงงานส่วนใหญ่จะหาได้
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างแดนลงทะเบียนก่อนกำหนดวันสุดท้ายไม่ถึง 19,000 คน ขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2557 ระบุว่า มีชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศมากกว่า 2 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับจำนวนแรงงานต่างประเทศที่ลงทะเบียนต่อกระทรวงแรงงาน แต่จำนวนแรงงานพม่าในต่างประเทศที่แท้จริงนั้นมีแนวโน้มที่จะสูงมากกว่านี้ และข้อมูลขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน ระบุว่า ผู้อพยพส่วนใหญ่นั้นไร้เอกสาร
ชาวพม่าหลายล้านคนหลบหนีความยากจน การคุกคาม และสงครามในประเทศที่ดำเนินอยู่นาน 49 ปีภายใต้ของการปกครองที่ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน ทำลายวิถีความเป็นอยู่ และบังคับให้ประชาชนต้องออกไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในที่อื่น
นับตั้งแต่ปี 2554 รัฐบาลกึ่งพลเรือนของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้ดำเนินการปฏิรูป และเปิดเศรษฐกิจประเทศ ทำให้ชาวพม่าบางส่วนเดินทางกลับประเทศ แต่ก็ยังมีอีกหลายล้านคนอาศัยอยู่ในต่างแดนที่ส่วนใหญ่ทำงานในสวนในไร่ ร้านอาหาร และโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศไทย
“คนงานหลายคนที่นี่ถูกยึดหนังสือเดินทางเก็บไว้กับนายจ้าง” กอ เต่ง นักเคลื่อนไหวดูแลสิทธิแรงงานพม่าในไทย กล่าว
หนังสือเดินทางเป็นเอกสารจำเป็นสำหรับการลงทะเบียนเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ความสับสนของระบบราชการมีส่วนทำให้อัตราการลงทะเบียนต่ำ หลังกระทรวงการต่างประเทศกำหนดวันสิ้นสุดสำหรับการลงทะเบียนในช่วงปลายเดือน ส.ค. ขณะที่คณะกรรมาธิการการเลือกตั้งสหภาพระบุในภายหลังว่า วันสุดท้ายของการลงทะเบียนยังไม่แน่นอน
พลเมืองพม่าในต่างประเทศที่ลงทะเบียนแล้วจะสามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ในวันที่ 17 ต.ค.นี้.