รอยเตอร์ - ทางการพม่าเร่งบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ขณะเดียวกัน ก็ออกแจกจ่ายน้ำขวด คลอรีนผง และยาเม็ดฆ่าเชื้อโรคในน้ำเพื่อป้องกันโรคท้องร่วง
ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย. ก่อให้เกิดน้ำท่วม และดินถล่มในหลายพื้นที่ของภาคกลาง และตะวันตกของประเทศ เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน และประชาชนได้รับผลกระทบอีกมากกว่า 1.3 ล้านคน ตามการระบุของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA)
ใน 4 รัฐ และเขตที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักที่สุด คือ ยะไข่ สะกาย มะเกว และอิรวดี ประชาชนหลายแสนคนไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการบริโภค อาบ หรือซักล้าง ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ และองค์กรบรรเทาทุกข์ต่างๆ
เจ้าหน้าที่ระบุว่า สระ และบ่อน้ำปนเปื้อนไปด้วยน้ำท่วม และน้ำทะเลในรัฐยะไข่ รวมทั้งมูลสัตว์จากฟาร์มต่างๆ
“เราจำเป็นต้องสูบน้ำท่วมออกจากสระเหล่านี้ เมื่อนั้นเราถึงจะสามารถใช้สระกักเก็บน้ำฝนในช่วงฤดูมรสุมที่เหลือ” ติน หม่อง เว เจ้าหน้าที่จากรัฐยะไข่ กล่าว
“หากเราไม่สามารถทำความสะอาดสระน้ำเหล่านี้ได้ทันเวลา ชาวบ้านจะต้องขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ในช่วงฤดูร้อน” เจ้าหน้าที่คนเดิม กล่าวและว่า สระน้ำประมาณ 1,000 แห่งใน 300 หมู่บ้าน ในรัฐยะไข่ล้วนปนเปื้อน
สื่อท้องถิ่นรายงาว่า ชาวบ้าน 30 คน ในเมืองปวินบยู เขตมะเกว ป่วยเป็นอุจจาระร่วงเฉียบพลันเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ และอีกราว 40 คน ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของเขตสะกาย มีอาการอุจจาระร่วงเมื่อสัปดาห์ก่อน ดร.โซ ละวิน เน็ง จากกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
หลายสิบหมู่บ้านรอบเมืองปวินบยูเผชิญต่อน้ำท่วม ทำให้ประชาชนในพื้นที่ต้องหลบภัยอาศัยในค่ายพักพิงชั่วคราว
“ในเมืองปวินบยู เราพบว่าน้ำดื่มีไม่เพียงพอภายในค่าย” ลีเนต ลิม ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารจาก Save for Children กล่าวและว่า สุขอนามัยของประชาชนนั้นย่ำแย่เนื่องจากการขาดแคลนห้องน้ำ
ทางการกำลังจัดส่งคลอรีนผง และยาเม็ดฆ่าเชื้อโรคในน้ำไปยังพื้นที่ต่างๆ แต่น้ำในสระ และบ่อน้ำหลายแห่งในรัฐยะไข่เป็นน้ำกร่อย ไม่สามารถบำบัดได้ โฆษกรัฐบาลท้องถิ่นรัฐยะไข่ กล่าว
ทางการพม่า และหน่วยงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ได้เริ่มทำความสะอาดสระ และบ่อน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ส่วนที่รัฐยะไข่ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศมุ่งไปที่การติดตั้งระบบกักเก็บน้ำฝน
ในเมืองนองโดง เขตอิรวดี เจ้าหน้าที่ที่ค่ายผู้ไร้ที่อยู่อาศัยระบุว่า หมู่บ้านราว 200 แห่งในพื้นที่เผชิญต่อภาวะขาดแคลนน้ำดื่มฉับพลัน ประชาชนหลายร้อยคนภายในค่ายอาศัยอยู่บนพื้นไม้ไผ่เหนือระดับน้ำท่วม และต้องอาศัยน้ำบรรจุขวดที่ได้รับบริจาค.