ซินหวา - วุฒิสภากัมพูชา หรือสภาสูง มีมติรับรองร่างกฎหมายว่าด้วยสมาคมและองค์กรพัฒนาเอกชนนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) แล้วในวันนี้ (24) หลังสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายที่เป็นประเด็นโต้แย้งฉบับนี้ไปเมื่อ 10 วันก่อน
วุฒิสมาชิกจากพรรคประชาชนกัมพูชา (CPP) ที่เป็นพรรครัฐบาล ที่ปรากฎตัวในการอภิปราย 44 คน ยกมือสนับสนุนร่างกฎหมายอย่างเป็นเอกฉันท์ ขณะที่วุฒิสมาชิกจากพรรคสมรังสี (SRP) ที่เป็นฝ่ายค้าน 11 คน คว่ำบาตรการลงมติ
พรรค SRP ได้รวมตัวกับพรรคสิทธิมนุษยชนในปี 2555 เพื่อตั้งพรรคใหม่ในชื่อพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) แต่วุฒิสมาชิกของพรรค SRP จะยังคงนั่งเก้าอี้ในวุฒิสภาไปจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งวุฒิสภาสมัยหน้าในปี 2561
วุฒิสภากัมพูชา มีที่นั่งทั้งหมด 61 ที่นั่ง และในการผ่านกฎหมายใดๆ ก็ตามจำเป็นต้องได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง หรืออย่างน้อย 32 เสียง
ขณะที่วุฒิสภากำลังลงมติร่างกฎหมายดังกล่าว ผู้สนับสนุนพรรคฝ่ายค้าน กลุ่มสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวเอ็นจีโอราว 300 คน ได้รวมตัวชุมนุมประท้วงอยู่ที่บริเวณด้านหน้าอาคารวุฒิสภา โดยระบุว่า กฎหมายดังกล่าวจะจำกัดเสรีภาพของสมาคม และเอ็นจีโอ
อุ๊ก กง สมาชิกวุฒิสภาของพรรค CPP กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะจำกัดเสรีภาพของสมาคม และองค์กรต่างๆ แต่กฎหมายจะช่วยคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพขององค์กรต่างๆ เหล่านั้น และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร และรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าวในเดือน มิ.ย. ว่า กฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะต่อสู้ต่อการสนับสนุนทางการเงินต่อการก่อการร้าย การฟอกเงิน และการตั้งกองกำลังติดอาวุธผิดกฎหมาย สมาคมและเอ็นจีโอต่างๆ ไม่ควรต้องวิตกกังวลต่อกฎหมายฉบับนี้ กฎหมายนี้จะปกป้อง สนับสนุน และเปิดรับกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร
รายงานของทางการกัมพูชา ระบุว่า ในปัจจุบันมีสมาคม และเอ็นจีโอเปิดดำเนินการในประเทศอยู่ประมาณ 5,000 แห่ง
ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้สมาคม และเอ็นจีโอต้องลงทะเบียนสัญชาติต่อรัฐบาลกัมพูชาเพื่อที่จะได้สิทธิในการดำเนินการทางกฎหมาย และจะต้องยื่นรายงานเกี่ยวกับกิจกรรม และการเงินขององค์กรต่อรัฐบาลทุกปี นอกจากนั้น ยังให้สิทธิรัฐบาลยกเลิกสมาคม หรือเอ็นจีโอที่กระทำการใดๆ ก็ตามที่เป็นการบ่อนทำลายความสงบสุข ความมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ความเป็นเอกภาพ วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี
ร่างกฎหมายจะถูกทูลเกล้าฯ ต่อกษัตริย์นโรดม สีหมุนี เพื่อลงพระปรมาภิไธยประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป.