ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ข้าวจากพม่าได้กลายเป็นคู่แข่งที่เด่นชัดของข้าวไทยมากขึ้นทุกปีๆ โดยแข่งขันในตลาดเดียวกันทั่วโลก ทั้งตลาดเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง รวมทั้งตลาดใหญ่ที่สุดในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ฟิลิปปินส์ ข้าวพม่ายังได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ ส่งออกขายให้จีนโดยทางบกอีกด้วย หนังสือพิมพ์ของทางการรายงานเรื่องนี้อ้างตัวเลขสมาคมข้าวแห่งชาติ ซึ่งคาดว่า ยอดขายปีงบประมาณ 2558 จะสูงถึง 2 ล้านตัน จากสถานการณ์ที่บรรดาประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการข้าวมากขึ้น
ปัจจุบัน ผู้ส่งออกได้ขายข้าวให้แก่จีน โดยส่งข้ามพรมแดนทางบกเฉลี่ย 4,000 ตันต่อวัน หนังสือพิมพ์พิมพ์เจมอน (Kyemon Daily) รายงาน
การส่งออกข้าวของพม่ามีปริมาณสูงอย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีมานี้ จาก 1.4 ล้านตัน ในปี 2555-2556 และ 1.2 ล้านตัน ในปี 2556-2557 เพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านตัน ในปีงบประมาณ 2557-2558 ที่เพิ่งจะผ่านไป โดยพม่าหวังจะทะยานขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ 1 ใน 3 รายของโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นั่นคือ เกาะในกลุ่มไทยกับเวียดนาม
ปริมาณส่งออก 1.8 ล้านตัน ปีงบประมาณที่แล้วนับว่ามากที่สุดในรอบ 49 ปี และปริมาณ 1.4 ล้านตัน เมื่อปี 2555-2556 นับเป็นยอดส่งออกสูงสุดในรอบ 74 ปี ในประวัติการผลิตและการค้าข้าวของพม่าที่เคยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเคยครองแชมป์ผู้ส่งออกข้าวโลกมาก่อน ในปี 2557-2558 รายได้จากการส่งข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 2,700 ล้านดอลลาร์ จาก 1,800 ล้านดอลลาร์ในปีก่อนหน้านั้น ทั้งนี้เป็นสถิติของกระทรวงพาณิชย์
ปีงบประมาณในระบบของพม่าเริ่มวันที่ 1 เม.ย.ของทุกปี และไปสิ้นสุดลงในวันที่ 31 มี.ค.ของปีถัดไป
นอกจากข้าวแล้ว การส่งออกผลผลิตทางการเกษตรชนิดอื่นๆ ก็ขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงเดียวกัน รวมทั้งข้าวโพด ที่เพิ่มจากไม่กี่พันตันในปี 2555-2556 เป็นกว่า 1 ล้านตัน ในปี 2556-2557 และกว่า 1.8 ล้านตันในปี 2557-2558 รัฐบาลได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์การส่งออก โดยเน้นไปยังสินค้าหลัก 7 หมู่ ซึ่งได้แก่ ข้าว ถั่วและงา ผลผลิตจากการประมง อุตสาหกรรมสิ่งทอ (และตัดเย็บเสื้อผ้า) ไม้และของป่า ยางพารา กับการท่องเที่ยว ทั้งนี้ ลดการขาดดุลการค้า ซึ่งในปีงบประมาณ 2557-2558 สูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ กระทรวงพาณิชย์ระบุ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันข้าวส่งออกของพม่ายังมีปริมาณไม่มากหากเทียบกับข้าวไทยที่ส่งออกเฉลี่ย 9-10 ล้านตันต่อปี และข้าวเวียดนามปีละ 6-7 ล้านตัน.