ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ทางการพม่าโดยกระทรวงวัฒนธรรม ได้จัดบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายแด่พระเจ้ามีงโดง (King Mindon) กษัตริย์แห่งราชวงศ์โคนบอน (Konbaung) นครมัณฑะเลย์ ที่ทรงเป็นสัญลักษณ์แห่งการนำประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ แต่แล้วเมื่อพระราชโอรสพระองค์หนึ่งคือ พระเจ้าธีบอ (Thibaw) เสด็จขึ้นครองราชสืบต่อมาก ราชวงศ์ก็ถึงกาลล่มสลายลง ด้วยน้ำมือของนักล่าอาณานิคมอังกฤษ
พิธีทำบุญเลี้ยงพระ จัดขึ้นวันอาทิตย์ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่วัดหลวง ภายในเขตพระราชวังเมียะนันสันจอ (Myanan Sankyaw) หรือ “พระราชวังทอง” ในอำเภออองเมตาซาน (Aungmethazan) เขตมัณฑะเลย์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลถวายแด่พระเจ้ามิงโดง และบรรดาเชื้อพระวงศ์ที่ล่วงลับ
เข้าร่วมพิธีทำบุญเลี้ยงพระภายในพระราชฐานเก่า ยังประกอบด้วย นายตานส่วย (Than Swe) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ดร.มี้นจู (Myint Kyu) มนตรีฝ่ายการคลัง กับ พล.อ.เยอองมี้น (Ye Aung Myint) มนตรีฝ่ายการศาสนา กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเขตมัณฑะเลย์อีกจำนวนมาก และยังมีบรรดาเชื้อพระวงศ์พระเจ้าธีบอเข้าร่วมด้วย หนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์ รายงาน
รัฐมนตรี กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงยังร่วมกันสนทนาเกี่ยวกับพระมหากรุณาธิคุณ พระเจ้ามิงโดง (หรือ “มินโดน” ตามเสียงในภาษาพม่า) กับบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์เมื่อก่อนอีกด้วย หนังสือพิมพ์รายวันซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาล ร่วมกับบริษัทเอกชนพม่าแห่งหนึ่ง ระบุในข่าวชิ้นเดียวกัน
การบำเพ็ญกุศล และเชิดชูคุณความดีของอดีตกษัตริย์แห่งราชวงศ์โคนบอน กับบรรดาเชื้อพระวงศ์แห่งนครมัณฑะเลย์ครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ (นับตั้งแต่เป็นเอกราช) นอกจากนั้่น ก็ยังมีบรรดาเชื้อพระวงศ์พระเจ้าธีบอ เข้าร่วมด้วย หนังสือพิมพ์รายวันกึ่งทางการระบุ
พระเจ้ามิงโดง (ค.ศ.1853-1878) เป็นกษัตริย์ที่พสกนิกรเคารพเลื่อมใสอย่างมาก ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการปฏิรูปหลายด้าน เช่น เป็นครั้งแรกที่มีการส่งคนไปศึกษายังต่างประเทศ ทั้งในสหรัฐฯ และอังกฤษ ทรงจัดตั้งระบบเงินเดือนสำหรับบรรดาข้าราชบริพาร ดูแลทุกข์สุขของราษฎรอย่างใกล้ชิด รวมทั้งทรงจัดตั้งกองเรือกลไฟ เปิดการค้าขายกับอังกฤษ และประเทศในแถบยุโรป โดยแล่นผ่านคลองสุเอซที่เปิดใหม่
พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์ที่ 10 แห่งราชวงศ์ ทรงเป็นสัญลักษณ์การพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคใหม่ ที่กลายมาเป็นสหภาพแห่งสาธารณรัฐเมียนมาร์ในปัจจุบัน แต่เมื่อสิ้นรัชสมัยพระเจ้ามิงโดง ราชวงศ์โคนบอนเปลี่ยนถ่ายอำนาจด้วยการประหัตประหารบรรดาเชื้อพระวงศ์ด้วยกัน เพื่อนำพระเจ้าธีบอ กับพระมเหสีศุภยลัต (Supayalat หรือ “สุ-เพ-ยา-ละ” ในสำเนียงพม่า) ขึ้นสู่อำนาจ
พระเจ้าธีบอเ ป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 41 ทรงขึ้นครองราชต่อจากพระราชบิดาเมื่อปี ค.ศ.1878 ซึ่งเป็นปีที่พม่าตอนล่างตกเป็นของอังกฤษจนหมดแล้ว คงเหลือแต่นครมัณฑะเลย์ในภาคเหนือ อันเป็นที่ประทับของกษัตริย์ พระองค์ทรงนำการแข็งขืนต่อการเข้าครอบครองของอังกฤษ แต่ก็มิอาจปกป้องราชอาณาจักรได้ กองทหารนักล่าอาณานิคมบุกเข้าถึงพระราชวังในปี 1885 จับตัวกษัตริย์ พร้อมพระราชินีเป็นเชลย ก่อนจะส่งไปประทับที่เมืองรัตนคีรี (Ratanagiri) เมืองท่าเรือเล็กๆ ริมฝั่งทะเลอาหรับ ในรัฐมหารัศตรา ไกลแสนไกลจากดินแดนพม่า
.
2
2
2
ประวัติศาสตร์ของพม่า กล่าวถึงพระเจ้าธีบอ ที่ทรงอยู่ใต้อาณัติของพระสัสสุ หรือแม่ยาย ซึ่งเป็นพระราชินีพระองค์หนึ่งในพระเจ้ามิงโดง และทรงจัดแจงทุกอย่างเพื่อให้ลูกเขยกับลูกสาว (ร่วมพระราชบิดาพระองค์เดียวกัน) ได้ขึ้นครองราช และยังเป็นผู้สั่งการให้สังหารรัชทายาทพระองค์อื่นๆ อีกหลายสิบพระองค์ รวมทั้งบรรดาพระบรมวงศานุวงที่ใกล้ชิด ผู้ใดก็ตามที่มีสิทธิในราชบัลลังก์
มาตรการอันโหดเหี้ยมนี้ถูกนำมาใช้ หลังจากเคยเกิดความพยายามยึดอำนาจโดยพระราชโอรสของพระเจ้ามิงโดงพระองค์หนึ่ง ซึ่งหมายปลงพระชมน์พระราชบิดา และองค์มกุฎราชกุมารถูกสังหารในเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่นอกเหนือจากนั้น ประวัติศาสตร์ก็พูดถึงพระเจ้าธีบอไม่มากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวอันเป็นส่วนพระองค์
อย่างไรก็ตาม หนังสือ The King in Exile ที่เขียนโดยสุดา ชาห์ (Sudha Shah) ชาวอินเดีย ที่ตีพิมพ์ในอินเดียเมื่อปี พ.ศ.2556 ได้สืบค้นเกี่ยวกับชีวิตส่วนพระองค์ ของกษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งพม่า ตั้งแต่ทรงขึ้นครองราช และตกเป็นเชลยของอังกฤษ จนต้องเสด็จไปประทับในอินเดีย และไม่มีโอกาสได้เสด็จกลับแผ่นดินมาตุภูมิอีก
หนังสือของ สุดา ชาห์ ยังกล่าวถึงพระราชินีศุภยลัต กับพระราชธิดา 3 พระองค์ ที่ทรงถูกควบคุมทุกอย่าง เจ้าอาณานิคมจัดสรรเงินให้ไม่มาก พอดำรงพระชนม์ชีพได้ ท่ามกลางพสกนิกรจำนวนหนึ่งที่ถูกนำไปด้วยเท่านั้น และบรรดาเจ้าหญิงน้อยก็ไม่ได้รับการศึกษาเป็นพิเศษแต่อย่างใด
อังกฤษไม่อนุญาตให้พระเจ้าธีบอเสด็จกลับพม่า ด้วยเกรงจะเกิดกระแสนิยมกษัตริย์กลับคืนมาอีกครั้ง จนกระทั่งพระองค์เสด็จสวรรคตที่เมืองรัตนคีรี เมื่อปี 1916 ต่อมาปี 1919 พระราชนีจึงทรงได้รับอนุญาตให้เสด็จกลับพม่า แต่อังกฤษไม่อนุญาตให้นำพระศพอดีตกษัตริย์กลับไปด้วย นอกจากนั้น ยังถูกบังคับให้ทรงประทับแต่ในกรุงย่างกุ้งเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นอกจากพระราชินีแล้ว ก็ยังพระราชธิดาอีกพระองค์หนึ่งทีได้เดินทางกลับแผ่นดินแม่ และได้แต่งงานกับสามัญชนชาวพม่า มีลูกหลานสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อประธานาธิบดีเต็งเส่ง เดินทางเยือนอินเดียอย่างเป็นทางการในเดือน ธ.ค.2555 และได้เดินทางไปถวายสักการะหลุมฝังศพของพระเจ้าธีบอ ที่รัตนคีรี กลายเป็นผู้นำคนแรกที่เดินทางไปเยี่ยมเยือนกษัตริย์พระองค์สุดท้าย แห่งราชวงศ์สุดท้ายของประเทศ ครั้งนั้น ปธน.พม่ายังได้ เชิญชวนบรรดาเชื้อพระวงศ์ ให้เดินทางกลับไปอาศัยในพม่าอีกด้วย.