xs
xsm
sm
md
lg

สื่อกลาโหมชั้นนำในสหรัฐฯ วิพากษ์ “แดเนียล รัสเซล”.. วอชิงตันผลักไทยสู่อ้อมอกจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033>ทหารจีนกับทหารสหรัฐ ยืนแถวระหว่างพิธีเปิดอาคารหอประชุมและโรงอาหาร โรงเรียนประถมศึกษาบ้านหนองปล้อง อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 24 ม.ค.2558 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกคอบร้าโกลด์ประจำปี 2558  อาคารหลังนี้ก่อสร้างโดยความร่วมมือระหว่างทหารช่างสหรัฐ จีน และ ไทย การฝึกพหุพาคีประจำปีนี้เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการวันจันทร์ 9 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมีความบาดหมางทางการทูตระหว่างไทยกับสหรัฐอยู่หลังฉาก หนังสือพิมพ์ Stars and Stripes ได้ใช้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญรายงานสถานการณ์นี้ วิพากษ์ฝ่ายการทูต คือ นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่มาเยือนไทยปลายเดือนที่แล้ว. --  US Navy Photo/Mass Communication Specialist 1st Class Gilbert A Bolibol. </b>

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหารของไทยโดย นายแดเนียล รัสเซล (Daniel Russel) ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระหว่างเยือนไทยปลายเดือนที่แล้ว ยังคงส่งผลสะท้านสะเทือนต่อความสัมพันธ์ 2 ฝ่ายต่อเนื่อง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านกลาโหมของนิตยสารเจนส์ (Jane's) ที่มีชื่อเสียง และได้รับความเชื่อถือมากที่สุดฉบับหนึ่ง มองว่า รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังผลักให้ไทยไปมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีรายงานเรื่องนี้ในสตาร์แอนด์สไตรป์ (Stars and Stripes) หนังสือพิมพ์รายวันข่าวกองทัพกับการกลาโหมในสหรัฐฯ ที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

สตาร์แอนด์สไตรป์ รายงานเรื่องนี้วันจันทร์ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่การฝึกซ้อมคอบร้าโกลด์ 2015 ได้เปิดขึ้นอย่างเป็นทางการในประเทศไทย และเป็นอีกปีที่มีคณะผู้แทนของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนเข้าร่วมด้วย

และเมื่อนำเอาข่าวชิ้นนี้ขึ้นโพสต์ในเฟซบุ๊ก สตาร์แอนด์สไตรป์ ตั้งคำถามนำด้วยว่า “หรือเรากำลังสูญเสียพันธมิตรอีกชาติหนึ่ง?”

หนังสือพิมพ์ยอดนิยมในวงการกลาโหมฉบับนี้ กล่าวว่า พิธีเปิดการฝึกคอบร้าโกลด์ ประจำปี 2558 เปิดขึ้นท่ามกลางความเป็นกังวลของสหรัฐฯ ต่อการรัฐประหารในประเทศเจ้าภาพเมื่อเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว และ “ในท่ามกลางความขัดแย้งทางการทูต ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมความมั่นคงปลอดภัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะยา“” แต่สหรัฐฯ ก็ส่งเจ้าหน้าที่กับทหารราว 3,600 นายเข้าร่วม

สหรัฐฯ มองไทยมีความสำคัญยิ่งยวดทางยุทธศาสตร์ และให้คุณค่าในเรื่องตำแหน่งที่ตั้ง ต่อการเป็นฐานที่มีความพร้อมด้านเครื่องมืออุปกรณ์ ในขณะที่ฝ่ายไทย ให้คุณค่าต่อสหรัฐฯ ในฐานะเป็นแหล่งเข้าถึงทางยุทธวิธี และกระบวนการปฏิบัติต่างๆ

สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ปีนี้ จะมีการฝึกยิงด้วยกระสุนจริงน้อยลง และมีการฝึกอำนวยการทางมนุษยธรรมมากขึ้น มีกว่า 20 ประเทศส่งทีมเข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็มุ่งหวังต่อการกระชับความสัมพันธ์ต่อกัน “แต่นอกเหนือจากความสำเร็จด้านการปฏิบัติของคอบร้าโกลด์แล้ว การคัดค้านอย่างแข็งขันของไทยต่อการวิพากษ์วิจารณ์ของ แดเนียล รัสเซล ต่อคณะปกครองทหารระหว่างไปเยือนกรุงเทพฯ เมื่อเดือนที่แล้วนั้น ไม่ควรจะถูกมองง่ายๆ ว่าเป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง” สตาร์แอนด์สไตรป์ กล่าว

ไทยก็เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่กำลังพิจารณาว่าจะสร้างความสมดุลด้านผลประโยชน์อย่างไรระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่มีผลประโยชน์ด้านความมั่นคงปลอดภัยแตกต่างกันเสมอๆ ในภูมิภาคนี้ นายแอนโธนี เดวิส (Anthony Davis) นักวิเคราะห์ด้านการทหารและความมั่นคงของนิตยสารเจนส์ ประจำกรุงเทพฯ กล่าวว่า สิ่งที่ นายรัสเซล อาจจะมองว่าเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเร็วๆ นี้นั้่นสามารถผลักไทยให้เข้าใกล้ชิดกับจีนได้อย่างช้าๆ

“ในอีกหนึ่งทศวรรษ หรืออีก 15 ปีข้างหน้า เรื่องนี้อาจจะถูกมองเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการปรับแต่งความสัมพันธ์ (สหรัฐฯ-ไทย) ซึ่งจะส่งผลในทางเสื่อมถอยลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” นายเดวิสกล่าว

ระหว่างไปปราศรัยที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 ม.ค. นายรัสเซล ได้วิจารณ์แบบขวานผ่าซาก การรัฐประหารยึดอำนาจ และการลงโทษรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้ระบอบประชาธิปไตยของไทย ที่ฝ่ายทหารกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองมองว่าทำให้ (ประเทศ) เสื่อมทรามลง และยังให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์อีกในเวลาต่อมา โดยเรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ เกี่ยวกับการพูด และการชุมนุม ซึ่งเขามองว่าเป็นก้าวสำคัญไปสู่ขบวนการปฏิรูปอันแท้จริง ที่หลายฝ่ายมีส่วนร่วมที่จะสะท้อนความหลากหลายทางความคิดในประเทศนี้

สตาร์แอนด์สไตรป์ กล่าวว่า การแสดงความเห็นของ นายรัสเซล คงจะไม่เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร ถ้าหากกระทำเป็นการส่วนตัว หรือผ่านโฆษกสักคนหนึ่งในกรุงวอชิงตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นายจอห์น แครี (John Kerry) กับอีกหลายต่อหลายคนก็เคยวิจารณ์กรณีรัฐบาลไทยปราบปรามผู้ประท้วง และกำราบสื่อ สั่งแบนหนังสือ และอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม ชาวไทยมองว่า นายรัสเซล นั้นเป็นแขกรับเชิญที่วิจารณ์เจ้าของบ้าน แม้แต่คนไทยจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยต่อการยึดอำนาจของฝ่ายทหาร ก็ยังโกรธเคืองต่อความเห็นของนายรัสเซล หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันอ้างคำพูดของผู้เชี่ยวชาญของนิตยสารเจนส์

หลัง นายรัสเซล จากไป เจ้าหน้าที่ไทยได้เรียกอุปทูตประจำสถานทูตสหรัฐฯ เข้าพบ และได้กล่าวแสดงความไม่พอใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผู้นำการยึดอำนาจ กล่าวว่าความเห็นของนายรัสเซล นั้นสร้างความผิดหวังอย่างใหญ่หลวง

“ผมรู้สึกเศร้าใจที่สหรัฐฯ ไม่เข้าใจเหตุผลที่ผมต้องเข้าแทรกแซง และไม่เข้าใจวิธีการทำงานของเรา ถึงแม้ว่าเราจะเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดต่อกันมานานก็ตาม” พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์

สัปดาห์ที่แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ได้ขอบคุณจีนที่เข้าใจสิ่งที่ไทยกำลังกระทำ นรม.ของไทยได้พบกับรัฐมนตรีกลาโหมจีน พล.อ.ชัง หวันกวน (Chang Wanguan) และมีการประกาศความตกลงเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ฝ่ายจีนกล่าวว่า จีนไม่มีแผนการที่จะแทรกแซงไทย

จีน และสหรัฐฯ ต่างก็เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญระหว่างกัน สองประเทศนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนทางด้านกลาโหมอย่างจำกัด ยกตัวอย่างเช่น คณะตัวแทนของสองฝ่ายเพิ่งร่วมมือกันในโครงการทางด้านมนุษยธรรมโครงการหนึ่งในประเทศไทย แต่สองประเทศนี้่ก็มองแตกต่างกันมากมายเกี่ยวกับทิศทางไปสู่อนาคตของย่านเอเชียแปซิฟิก

การกล่าวอ้างอันกำกวมของฝ่ายจีนเป็นเจ้าของพื้นที่เกือบ 90% ของทะเลจีนใต้นั้น ขัดแย้งต่อการตีความทางกฎหมายระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ กับประเทศอื่นๆ อีกเกือบทั้งหมดต่างรับรอง และการกล่าวอ้างสิทธิเหนือเกาะหลายเกาะ พร้อมกับข่มขู่ด้วยกำลังของจีนนั้น ได้สร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สหรัฐฯ ได้ปกป้องคุ้มครองไต้หวันให้รอดพ้นจากการรุกรานของจีนมาเป็นเวลาหลายทศวรรษซึ่งเป็นภูมิหลังของเรื่องนี้

ไทยไม่ได้มีความขัดแย้งกับจีนเกี่ยวกับดินแดน และได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่องจากขีดความสามารถของตนที่เพิ่มขยายขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งนี้สามารถนำไปสู่ “การปรับแต่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป” (gradual recalibration) ในความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงปลอดภัย นายเดวิส กล่าว

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์รายนี้มองว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นที่จะต้องเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไทยมีเกียรติภูมิจากการเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกคอบร้าโกลด์ รวมทั้งได้รับความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคจากสหรัฐฯ ในการต่อสู้กับการก่อการร้ายในภาคใต้ของประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประโยชน์ที่ได้รับ เมื่อปีที่แล้ว ไทยส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ รวมมูลค่า 27,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2556 เล็กน้อย

“ทั้งสองฝ่ายยังคงเป็นคู่ที่มีหลายสิ่งหลายอย่างร่วมกัน และได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันมายาวนาน” และ “ผมไม่คิดว่าจะมีใครคนใดคนหนึ่งไม่ว่าจะด้วยกรณีใดก็ตาม กำลังส่งสัญญาณเกี่ยวกับความเป็นไปได้สำหรับการหย่าร้าง” ผู้เชี่ยวชาญของเจนส์ กล่าวต่อสตาร์แอนด์สไตรป์.
กำลังโหลดความคิดเห็น