xs
xsm
sm
md
lg

จราจรวิกฤตรถติดอัมพาต พม่าเปิดสะพาน “บุเรงนอง 2” ในย่างกุ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 <br><FONT color=#000033>สะพานบุเรงนอง 2 (Bayintnaung II) เปิดใช้อย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ที่ 9 พ.ย. เชื่อมฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเข้าด้วยกัน นครย่างกุ้งกำลังจะมีสะพานข้ามแม่น้ำแห่งใหม่ทยอยกันผุดขึ้นมาอีก 5 แห่งในปีข้างหน้า ในความพยายามแก้ไขปัญหาการจราจรทีในปัจจุบันอยู่ในขั้นวิกฤต และ เริ่มจะควบคุมได้ยาก และ กรุงเก่าที่มีประชากรเกือบ 5 ล้านคน ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัย. -- ภาพ: GNLM. </b>

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ทางการพม่าได้เปิดใช้สะพานข้ามแม่น้ำแห่งใหม่อย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์ 9 พ.ย.ที่ผ่านมา เชื่อมฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออกของนครย่างกุ้ง ในความพยายามระบายการจราจรที่แออัด และยังเป็นสะพานแห่งที่ 2 ที่ตั้งชื่อตามพระนามแห่งบรมกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดพระองค์หนึ่ง ที่ทอดข้ามแม่น้ำสายเดียวกันในกรุงเก่า

“สะพานบุเรงนอง 2” ยาว 496 เมตรเศษ เริ่มการก่อสร้างในเดือน มิ.ย.2556 และมีการทำการทดสอบขีดความสามารถในการทานน้ำหนัก และทดลองใช้งานระหว่างวันที่ 1-2 ต.ค. ที่ผ่านมา โกลบอลนิวไล้ท์ออฟเมียนมาร์ หนังสือพิมพ์รายวันของทางการรายงานในฉบับวันจันทร์นี้

สะพานแห่งใหม่นี้สร้างขึ้นคู่ขนานติดๆ กันกับสะพานบุเรงนอง 1 ซึ่งทอดข้ามแม่น้ำไหล (Hline River) เพื่อใช้เป็นเส้นทาง “ขาเข้า” กับ “ขาออก” ระหว่าง อ.ไหลตายา (Hlinethaya) กับ อ.มายางกอน (Mayangon) ซึ่งอยู่ซีกตะวันตกของกรุงเก่า ที่นี่เป็นจุดผ่านสำคัญออกไปยังย่านนอกเมือง กับเขตอิรวดีทั้งหมด ในย่านนี้่การจราจรในชั่วใมงเร่งด่วน ติดขัดจนถึงขั้น “คลานตามกันไป” ทำให้เสียเวลาหลายชั่วโมง

ถึงแม้ว่าตัวสะพานบุเรงนอง 2 จะมีความยาวไม่ถึง 500 เมตร แต่หากรวมกับสะพานอีก 2 แห่ง ที่เป็นทางเข้าสู่สะพานหลักจากทั้งสองฝั่ง ก็จะมีความยาวรวมเป็นกว่า 1,260 เมตร โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ กล่าว

“สะพานแห่งใหม่นี้จะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดในย่านตะวันตกนครย่างกุ้ง และส่งเสริมการค้าขายกับเขตอิรวดีที่อยู่ติดกัน” หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว อ้างคำพูด นายจอ-ลวิน (Kyaw Lwin) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงก่อสร้าง กล่าวระหว่างปราศรัยในพิธีเปิดใช้สะพาน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากทั้งส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของนครเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

เข้าร่วมในพิธีเปิดยังประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการจากกรุงเนปีดอ อีก 3 กระทรวง คือ นายเซยา ออง (Zeyar Aung) รมว.พลังงาน นายเกาะ เกาะ อู (Ko Ko Oo) รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโนยี กับนายเถออง (Htay Aung) รมว.กระทรวงโรงแรมและการท่องเที่ยวพม่า หนังสือพิมพ์ของทางการกล่าว

รัฐบาลกลางของคณะปกครองทหารในอดีต ได้ตัดสินใจก่อสร้างสะพานบุเรงนองแห่งแรกขึ้นในปี พ.ศ.2537 ซึ่งในขณะนั้นมียวดยานต่างๆ ใช้วันละประมาณ 20,000 คัน/เที่ยวเท่านั้น ปัจจุบันการจราจรแออัดมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่นครใหญ่ยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ทันสมัย ประชากรที่คาดว่าจะมีประมาณ 4.6 ล้านคน ยังต้องพึ่งพาระบบรถไฟวงกลม กับรถโดยสารสธารณะที่ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรม และการนำเข้ารถยนต์ใหม่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวด

นายมี้นสเว (Myint Swe) มุขมนตรีคณะบริหารเขตย่างกุ้ง เปิดเผยในพิธีเดียวกันว่า ในปีงบประมาณ 2557-2558 (1 เม.ย.-31มี.ค.) นี้ ทางการมีแผนการจะสร้างสะพานอีก 5 แห่งขึ้นในเขตปกครอง สะพานใหม่จะเชื่อมต่อระหว่างย่านสำคัญๆ ต่างๆ ทั้ง 5 ย่านตามสองฝั่งแม่น้ำ เรียงรายจากทางทิศเหนือของตัวเมือง ลงไปยังทางทิศใต้

เมื่อเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาขึ้น ผู้คนมีรายได้สูงขึ้น ก็ได้ทำให้ถนนสายสำคัญในนครใหญ่ทางภาคใต้ที่เคยโล่งโปร่งกลายเป็นทางคมนาคมขนส่งที่แออัด ทางการได้พยายามอย่างยิ่งในการสร้าง และขยายถนนหนทาง รวมทั้งสร้างสะพานลอยต่างระดับข้ามสี่แยกสำคัญหลายแห่ง แต่ก็ไม่ทันต่อการขยายตัวของยวดยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดในการนำเข้ารถยนต์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งทำให้มีรถเพิ่มขึ้นอีกนับหมื่นคัน

ย่างกุ้งยุคใหม่ก่อสร้างขึ้นใหม่ในช่่วงคริสต์ทศวรรที่ 1850 หลังสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดยชาวอังกฤษได้วางผังเมืองเป็นข่ายตารางอย่างเป็นระบบระเบียบ และงดงาม ขณะนั้นราว 40% ของประชากรได้หลั่งไหลเข้าไปอาศัยทำกินในเมืองหลวงแห่งใหม่ และเชื่อกันว่าอีกราว 20 ปีข้างหน้า ประชากรกรุงเก่าอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคน หรือกว่า 2 เท่าของจำนวนในปัจจุบัน การจราจรจึงเป็นปัญหาสำคัญที่จะต้องแก้ไข เช่นเดียวกันกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคอื่นๆ เพื่อรองรับ.
กำลังโหลดความคิดเห็น