xs
xsm
sm
md
lg

นักท่องเที่ยวแดนกีวีเผยทำลายรูปสลักในปราสาทเขมรตามเสียงเทพสั่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากเยี่ยมชมปราสาทบายน หนึ่งในปราสาทที่โดดเด่นจากรูปสลักหน้าพักต์บนยอดปราสาท ในอุทยานประวัติศาสตร์พระนคร จ.เสียมราฐ.-- Agence France-Presse/Tang Chhin Sothy.</font></b>

แคมโบเดียเดลี่ - นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ทางการกัมพูชาต้องการตัว เนื่องจากทำลายพระพุทธรูปสลักในปราสาทบายนที่อุทยานประวัติศาสตร์พระนครเมื่อสัปดาห์ก่อน ได้ยอมรับว่า เป็นผู้กระทำการดังกล่าวจริง โดยอ้างกับสื่อของนิวซีแลนด์ว่า ทำลายรูปสลัก เพราะรูปสลักชิ้นนั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปราสาท

วิลเลมาย เฟอมัท อายุ 40 ชาวดัตช์ ที่อาศัยอยู่ในนิวซีแลนด์ถาวร เผยว่า เธอทำลายพระพุทธรูปสลักเนื่องจากเธอได้ยินเสียงที่บอกกับเธอว่า ปราสาทหลังนี้สร้างขึ้นในศาสนาพุทธ แต่ในความเป็นจริงเป็นของเทพธิดาองค์หนึ่งที่ชื่อ อินานนา (Inana)

“เมื่อฉันไปถึงที่นั่นฉันรู้สึกแปลกมากๆ มีบางอย่างกำลังคุยกับฉัน แต่มันเป็นเหมือนความคิดของตัวฉันเอง” เฟอมัท กล่าวต่อ Stuff.co.nz หลังเดินทางถึงกรุงเวลลิงตัน ในวันจันทร์ (13)

“สิ่งนั้นบอกแก่ฉันว่า ฉันต้องล้างขยะออกจากปราสาทหลังนี้เพราะมันมีมากเกินไป ทั้งที่มาจากพระ และคนอื่นๆ”

เฟอมัท ที่มีรายงานว่า จบการศึกษาปริญญาเอกด้านภาษาศาสตร์ กล่าวต่อเว็บไซต์ข่าวของนิวซีแลนด์ ว่า เธอซ่อนตัวอยู่ในป่าขณะที่เจ้าหน้าที่ขององค์การอัปสราตามหาตัวเธอในปราสาทหลังหมดเวลาเยี่ยมชม

หญิงชาวดัตช์ผู้นี้ระบุว่า ได้ย้อนกลับเข้ามาในตัวปราสาทเพื่อนั่งสมาธิ และตัดสินใจที่จะย้ายรูปสลักพระพุทธรูปออกหลังเสียงที่ได้ยินสั่งให้เธอทำเช่นนั้น แต่รูปสลักพังเสียหายโดยไม่ตั้งใจระหว่างที่เคลื่อนย้าย

“ฉันตัดสินใจที่จะคุยกับสื่อเพราะฉันคิดว่าเป็นสิ่งที่อินานนาต้องการ เพราะเธอระบุว่า ปราสาทหลังนี้เป็นของเธอไม่ใช่ศาสนาพุทธ เพราะในช่วงเวลาหนึ่งมีบางคนได้เข้ามาเปลี่ยนที่แห่งนี้ให้กลายเป็นปราสาทในศาสนาพุทธ” เฟอมัท กล่าว

เจ้าหน้าที่บูรณะปราสาทพบเฟอมัทในเช้าวันศุกร์ (10) หลังหายตัวไปตั้งแต่ช่วงเย็นของวันพฤหัสบดี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวเพื่อสอบถามเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนปล่อยตัว หลังจากนั้นองค์การอัปสรา และตำรวจเริ่มค้นหาเธออีกรอบหลังพบว่า รูปสลักในปราสาทพังเสียหาย แต่เฟอมัท ได้เดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว โดยรูปสลักที่หักพังนี้มีอายุย้อนหลังอยู่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ปลายศตวรรษที่ 12 และได้รับการบูรณะใหม่ในปี 2531

โฆษกองค์การอัปสรา ระบุว่า ผู้อำนวยการองค์การอัปสราได้พบกับรองผู้ว่าราชการ จ.เสียมราฐ เพื่อหารือถึงคดีที่เกิดขึ้น แต่ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม.
<br><FONT color=#000033>วิลเลมาย เฟอมัท นักท่องเที่ยวจากนิวซีแลนด์.-- Photo/Stuff.co.nz/Facebook.</font></b>
กำลังโหลดความคิดเห็น