ASTVผู้จัดการออนไลน์ - มีผู้นำภาพเก่าๆ ภาพหนึ่งขึ้นเผยแพร่ในโลกโซเชียลมีเดีย นครเวียงจันทน์ และกลายเป็นที่ถกเถียงกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อผู้รู้ท่านหนึ่งระบุว่า นี่คือพระฉายาลักษณ์เจ้าฟ้าหญิงสะหวีวันสว่าง (Javivani Savangsa Manivong) พระราชธิดาพระองค์แรกในสมเด็จเจ้ามหาชีวิตสะหว่างวัดทะนา กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ล้านช้างหลวงพระบาง ที่ทรงถูกบังคับให้สละราชสมบัติเมื่อฝ่ายคอมมิวนิสต์ปะเทดลาวเข้ายึดอำนาจ และเปลี่ยนพระราชอาณาจักรลาวเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 40 ปีที่แล้ว ก่อน "เจ้ามหาชีวิต" ของลาวเสด็จสวรรคต ในค่ายกักกันเมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน
นับเป็นภาพที่หาดูได้ยากยิ่งจากหน้าประวัติศาสตร์ที่ดำมืด ซึ่งเยาวชนคนรุ่นใหม่แทบจะไม่ได้เห็น และไม่รู้จัก เนื่องจากเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชวงศ์ถูกตัดออกจากตำราไปทั้งหมด ในขณะที่พระบรมวงศานุวงศ์กว่า 100 พระองค์ ได้แตกกระสานซ่านเซ็นออกลี้ภัยในต่างแดน และเมื่อ 4 ทศวรรษผ่านไป ก็เหลือเพียงไม่กี่พระองค์ที่ยังทรงเคลื่อนไหวทวงคืนราชบัลลังก์แห่งหลวงพระบางอย่างสิ้นหวัง
อย่างไรก็ตาม เจ้าฟ้าหญิงสะหวีวัน (ฉวีวรรณ) สิ้นพระชนม์ในเดือน ม.ค.2550 ที่เมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส รวมพระชนมายุ 74 พรรษา หลังจากที่ทรงประชวรเรื้อรัง และหลังจากพระเจ้าน้องเธอเจ้าฟ้าหญิงดาลาสว่าง (Thala Savangsa) “เจ้าหญิงเล็ก” ทรงจากไปราว 1 ปีก่อนหน้านั้น
ตามบันทึกอันกระท่อนกระแท่น เจ้าฟ้าหญิงทรงมีพระประสูติกาลในปี ค.ศ.1933 (พ.ศ.2476) ในพระที่นั่งฮอยลาด (รอยราช) พระบรมมหาราชวังหลวงพระบาง ในสมเด็จเจ้ามหาชีวิต (พระเจ้าอยู่หัว) ภัทรมหาศรีสว่างวัฒนา กับพระภัทรมหาราชินีคำผุย เป็นเจ้าหญิงพระองค์แรกแห่งรัชกาลและต่อมา ได้กลายเป็นเจ้าฟ้าหญิงองค์รัชทายาทสายตรงพระองค์สุดท้ายของลาว ก่อนจะสิ้นพระชนม์ในต่างแดน เช่นเดียวกับพระบรมวงศานุวงศ์ส่วนใหญ่
“เจ้าฟ้าหญิงใหญ่” ทรงมีพระเจ้าพี่ยาเธอพระองค์หนึ่ง คือ เจ้าฟ้าชายวงสะหว่างมหามกุฎราชกุมาร กับพระเจ้าน้องยาเธออีก 3 พระองค์ ที่ทรงเป็นพระบรมราชาวงศ์ซึ่งได้แก่เจ้าฟ้าชายสีสะหว่าง เจ้าฟ้าชายสุลิยะวงสะหว่าง กับเจ้าฟ้าชายเคือสะหว่าง มีเพียงพระองค์ที่สองที่ทรงว่ายน้ำข้ามโขงหลบหนีเข้าฝั่งไทยได้สำเร็จในเดือน พ.ย.2518 อีก 3 พระองค์ทรงหายสาบสูญไปตั้งแต่ช่วงปีนั้น โดยเชื่อกันว่า ทุกพระองค์สิ้นพระชนม์ในค่ายกักกันแขวงหัวพัน เช่นเดียวกันกับสมเด็จเจ้ามหาชีวิตสะหว่างวัดทะนา
เจ้าฟ้าหญิงสะหวีวัน ทรงศึกษาในพระราชวังหลวงพระบาง ก่อนเสด็จไปศึกษาต่อทั้งในฝรั่งเศสและอังกฤษ และเสด็จกลับคืนพระราชอาณาจักรรับใช้เบื้องพระยุคลบาท ในเดือน พ.ย.2500 เจ้าหญิงทรงเข้าพระราชพิธีอภิเษกสมรสกับเจ้าชายสีมังคะลามะนี (สีสุมัง มะนีวง) นายพันเอกแห่งกองทัพพระราชอาณาจักร ซึ่งเป็นพระประยูรญาติสายหนึ่ง ทรงมีพระราชบุตร 7 พระองค์ พระราชธิดาอีก 3 พระองค์ และยังไม่เคยมีข่าวคราวเกี่ยวกับบรรดา “เจ้าฟ้าน้อย” เหล่านั้นอีก
เจ้าฟ้าหญิงทรงหลบหนีเข้าไทยได้สำเร็จในคืนหนึ่งของเดือน พ.ย.2518 ก่อนจะเสด็จต่อไปยังประเทศฝรั่งเศส และเข้าร่วมกระบวนการทางการเมืองกดดันระบอบใหม่ในเวียงจันทน์ จนกระทั่งวันสิ้นพระชนม์ชีพ
“ในขณะนี้พวกเราเหล่าสตรีลาวได้ตั้งถิ่นฐานอย่างมั่นคงปลอดภัยในประเทศที่สาม อย่างไรก็ตามข้าพเจ้ายังคงคิดถึงพวกเราอีกจำนวนมากที่อยู่ข้างหลังในดินแดนบ้านเกิดที่ยังดำรงชีพอยู่ยากลำบากอย่างแสนสาหัส จะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเอง และครอบครัวอยู่ได้ นอกจากนั้น สตรีลาวก็ยังต้องเผชิญกับภัยข่มขู่คุกคามใหม่ๆ เช่นเอชไอวีเอดส์ และยาเสพติดที่แผ่ขยายอย่างกว้างขางในลาวปัจจุบัน”
เท่าที่มีการบันทึกเอาไว้ เชื่อว่าข้อความข้างบนนั้นเป็นพระราชสาสน์ชิ้นสุดท้ายของเจ้าฟ้าหญิงสะหวีวัน ที่รายงานจากเมืองนีซ โดยวิทยุเอเชียเสรีเมื่อปี พ.ศ.2546
.
.
ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทางการคอมมิวนิสต์ลาวยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงใดๆ เกี่ยวกับชะตากรรมของกษัตริย์พระองค์สุดท้ายอย่างเป็นทางการ ตลอดจนข่าวคราวเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์อีกหลายพระองค์ที่ทรงดำรงชีวิตอยู่ในลาวซึ่งรวมทั้งพระองค์เจ้าหญิงมะนีไลสะหว่าง พระวรชายาในสมเด็จเจ้าฟ้าชายวงสะหว่าง องค์มกุฎราชกุมาร
ปัจจุบัน “เจ้าป้า” อายุ 73 ปี เป็นเจ้าของร้านอาหารที่ได้รับความนิยมแห่งหนึ่งในหลวงพระบาง ดำเนินชีวิตเยี่ยงสามัญชนอยู่ในเมืองมรดกโลกสืบต่อมา.