xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามยันสิทธิเหนือน่านน้ำ ด้านปักกิ่งย้ำฮานอยต้องหยุดสร้างข้อขัดแย้งเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>หยาง เจีย ฉือ มนตรีแห่งรัฐ (ซ้าย) และนายกรัฐมนตรีเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง (ขวา) ร่วมหารือในกรุงฮานอย วันที่ 18 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายต่างประเทศระดับสูงของจีนหารือกับผู้นำเวียดนามในกรุงฮานอย เกี่ยวกับการตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันในน่านน้ำพิพาท ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศดิ่งลงถึงระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ.-- Agence France-Presse/Pool/Luong Thai Linh.</font></b>

เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ด้านนโยบายต่างประเทศระดับสูงของจีน วานนี้ (18) ปฏิเสธการอ้างสิทธิของเวียดนามเหนือน่านน้ำพิพาท ในการหารือที่มีเป้าหมายจะฟื้นความสัมพันธ์ที่ตกต่ำถึงจุดต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษของสองประเทศ

หยาง เจียฉือ มนตรีแห่งรัฐของจีน ได้พบหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม และนายกรัฐมนตรีเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง ในกรุงฮานอย ถือเป็นการเจรจาระดับสูงระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. เมื่อเรือของทั้งสองฝ่ายเข้าปะทะกันใกล้กับแท่นขุดเจาะน้ำมันของจีนที่ตั้งอยู่ในน่านน้ำพิพาท ซึ่งเหตุดังกล่าวจุดชนวนให้เกิดการจลาจลต่อต้านจีนในเวียดนาม และการอพยพของชาวจีน

แต่การหารือครั้งนี้กลับไม่มีความคืบหน้า เมื่อหยาง กล่าวกับเวียดนามว่า ฝ่ายเวียดนามต้องหยุดการกระทำที่เป็นการรบกวนต่อการดำเนินการของจีน และหยุดสร้างข้อขัดแย้งเพิ่ม รวมทั้งเรียกร้องให้จัดการกับผลกระทบจากเหตุจลาจลโจมตีกิจการต่างชาติ

ในระหว่างการหารือ หยาง เน้นย้ำว่าหมู่เกาะพาราเซลเป็นดินแดนที่มีอยู่แต่เดิมของจีน และกล่าวว่า ความยากลำบากในความสัมพันธ์เวลานี้มีสาเหตุจากการรบกวนที่ผิดกฎหมายของเวียดนาม ตามการระบุของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน

เวียดนามอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะพาราเซล ที่ถูกจีนยึดไปจากเวียดนามใต้ในขณะนั้นเมื่อปี 2517 ก่อนสิ้นสุดสงครามเวียดนาม

หลังจากหยาง เดินทางออกจากกรุงฮานอยในค่ำวันพุธ (18) เวียดนามได้ออกคำแถลงฉบับหนึ่งยืนยันการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะพาราเซล และเรียกร้องให้จีนถอนแท่นขุดเจาะที่ผิดกฎหมายออกไปจากพื้นที่ดังกล่าว

นายกรัฐมนตรีเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง ของเวียดนาม กล่าวว่า การกระทำของจีนละเมิดอธิปไตยของเวียดนาม ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ประชาชน และทำลายความสัมพันธ์ทวิภาคี ตามคำแถลงที่ออกโดยกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม พร้อมกันนี้ เวียดนามยังเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติต่อการเผชิญหน้า และระบุว่า เวียดนามจะป้องกันสิทธิของตนเองตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ตลอดเดือนที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหากันไปมาในข้อขัดแย้งดินแดนที่ร้อนแรงขึ้น ด้วยแต่ละฝ่ายอ้างว่า กระทำพฤติกรรมก้าวร้าวต่อเรือของอีกฝ่ายหนึ่ง ที่รวมทั้งเข้าชนปะทะ ซึ่งข้อขัดแย้งนี้ทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่สงครามชายแดนในปี 2522

ก่อนหน้านี้ หยาง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ แต่ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นทำหน้าที่มนตรีแห่งรัฐเมื่อปีก่อน ซึ่งตำแหน่งนี้ทำให้ หยาง มีอำนาจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ผู้นำคอมมิวนิสต์เวียดนามพยายามที่จะสมดุลการต่อต้านรุนแรงภายในประเทศต่อความเคลื่อนไหวเพียงฝ่ายเดียวของจีนในทะเลจีนใต้ ด้วยความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรต่อเพื่อนประเทศคอมมิวนิสต์

เหวียน จ่อง วิง อดีตทูตเวียดนามประจำกรุงปักกิ่ง กล่าวว่า รู้สึกแปลกใจต่อการเดินทางเยือนของหยาง เพราะก่อนหน้านี้ เวียดนามพยายามที่จะเริ่มต้นเจรจาทวิภาคีในระดับสูงแต่ถูกปฏิเสธ นักการทูตรายนี้่ยังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า จีนไม่จริงใจในความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาขัดแย้งทางทะเล ปักกิ่งเพียงแค่ต้องการที่จะซ่อมแซมความเสียหายต่อชื่อเสียงของตัวเอง

“พวกเขาต้องการที่จะลดแรงกดดันของนานาชาติ แต่พวกเขากลับไม่ยุตินโยบายรุกล้ำในทะเลตะวันออก” เหวียน จ่อง วิง กล่าวถึงทะเลจีนใต้

เหตุจลาจลต่อต้านจีนปะทุขึ้นจากการตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันของจีน จนทำให้มีชาวจีนเสียชีวิต 3 คน ในเวียดนามเมื่อเดือนก่อน ตามการระบุของฮานอย แต่ปักกิ่งระบุว่า มีชาวจีนเสียชีวิต 4 คน

ฮานอย ได้ดำเนินการยุติการประท้วงของประชาชน ในความพยายามที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนต่างชาติที่วิตกว่าเวียดนามนั้นเป็นสถานที่ปลอดภัยที่จะทำธุรกิจ

ด้านสหรัฐฯ ระบุว่า การตั้งแท่นขุดเจาะน้ำมันในน่านน้ำพิพาทเป็นการกระทำยั่วยุ และนายกรัฐมนตรีเหวียน เติ๋น ยวุ๋ง ประกาศว่า ฮานอยกำลังพิจารณาที่จะดำเนินการตามกฎหมายต่อจีน

แต่นักการทูตหลายคนในฮานอย กล่าวว่า ไม่มีแนวโน้มที่เวียดนามจะดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากการดำเนินการทางกฎหมายอาจนำไปสู่การตอบโต้ทางเศรษฐกิจจากจีนที่จะส่งผลกระทบต่อเวียดนามอย่างหนัก เพราะจีนเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม และการเผชิญหน้าเกี่ยวกับแท่นขุดเจาะน้ำมันได้ส่งกระทบต่อบางบริษัทแล้ว

“จีนมีความได้เปรียบ และหยาง คงจะเผยเป็นนัยอย่างแน่นอนว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจหากความสัมพันธ์ทวิภาคีไม่ดีขึ้น” คาร์ล เธเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวียดนาม กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น