เอเอฟพี - พม่าให้คำมั่นวันนี้ (9) ที่จะปกป้องคุ้มครองกลุ่มช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ต่างชาติที่ตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มม็อบชาวพุทธในพื้นที่ภาคตะวันตก หลังมีกระแสความวิตกกังวลจากรัฐบาลต่างชาติ และสหประชาชาติ
รัฐบาลพม่า ยอมรับว่าดำเนินการล่าช้าในการตอบสนองต่อเหตุความไม่สงบที่ทำให้เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต้องหลบหนีออกจากรัฐยะไข่เมื่อเดือนก่อน และยังทำให้ผู้คนหลายพันคนเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร และน้ำดื่ม
รัฐบาลพม่า ให้คำมั่นที่จะจัดหาการรักษาความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาคให้แก่ชาวต่างชาติจากสหประชาชาติ และหน่วยงานระหว่างประเทศต่างๆ ตามคำแถลงฉบับหนึ่งที่ปรากฏบนเว็บไซต์สำนักงานประธานาธิบดี
ในคำแถลงฉบับดังกล่าว ยังระบุยอมรับว่าทางการไม่ได้ตอบสนองอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพที่จะปกป้องคุ้มครองกลุ่มบรรเทาทุกข์ เมื่อผู้ก่อเหตุจลาจลเข้าปล้มสะดมสำนักงานของกลุ่มบรรเทาทุกข์ในเมืองซิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่
ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้ นายบัน คี-มูน เลขาธิการสหประชาชาติ มีโทรศัพท์ถึงประธานาธิบดีเต็งเส่ง เพื่อร้องขอให้การมีปกป้องคุ้มครองพลเรือน และเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ ขณะที่สหรัฐฯ ได้แสดงความวิตกกังวลต่อการปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ และเมื่อวันจันทร์ (7) อังกฤษได้เรียกตัวทูตพม่าเข้าพบเพื่อแสดงความวิตกกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน
จนถึงเวลานี้ มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้ามาดูแลความปลอดภัยอาคารสถานที่ที่ได้รับความเสียหาย หลังกลุ่มม็อบขว้างปาหิน เข้าทำลายทรัพย์สิน และปล้นสะดมโกดังของกลุ่มช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่างชาติที่ตั้งอยู่ในพื้นที่
เจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์มากกว่า 170 คน ได้หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ หลังเกิดเหตุโจมตีดังกล่าว ที่รายงานระบุว่า เกิดขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ของกลุ่มช่วยเหลือด้านการแพทย์จากเยอรมนีปลดธงศาสนาพุทธที่ติดอยู่ด้านนอกบ้านเช่าของตัวเองออก
คำแถลงของสำนักงานประธานาธิบดีระบุว่า เจ้าหน้าที่จะเปิดเผยผู้ที่เป็นผู้นำกลุ่มม็อบ และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในเหตุจลาจลดังกล่าว
กลุ่มช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ต่างชาติในรัฐยะไข่ ตกอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างมหาศาลจากชาวพุทธท้องถิ่นที่กล่าวหาว่าพวกเขาลำเอียงเข้าข้างชาวมุสลิม
ความเกลียดชังระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมในรัฐยะไข่ ปะทุขึ้นเป็นเหตุนองเลือดในปี 2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุปะทะหลายสิบคน และอีก 140,000 คน ต้องไร้ที่อยู่อาศัย
ธงศาสนาพุทธถูกติดไว้ทั่วเมือง เป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงต่อต้านชาวมุสลิมในการสำรวจสำมะโนประชากร ที่ชาวพุทธหลายคนระบุว่า จะคว่ำบาตร เนื่องจากเกรงว่าการสำรวจสำมะโนประชากรจะเป็นฐานให้ชาวมุสลิมอ้างสิทธิทางการเมือง.