xs
xsm
sm
md
lg

สมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปเขมรชี้แรงงานจะเป็นผู้เคราะห์ร้ายที่สุด หากสหภาพผละงานประท้วง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2557 เผยให้เห็นแรงงานชาวกัมพูชาเดินออกจากโรงงานแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ กลุ่มสหภาพแรงงานที่สนับสนุนฝ่ายค้านเรียกร้องให้ทางการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้กับแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็น 160 ดอลลาร์ต่อเดือน และปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม 21 คน โดยขู่ว่าหากทางการไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้อง สหภาพจะให้แรงงานผละงานประท้วง ด้านสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปกัมพูชา (GMAC) ออกคำแถลงระบุว่าสถานการณ์การผละงานและการชุมนุมที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ผู้ซื้อลดคำสั่งซื้อ และหากโรงงานปิดตัว ผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือแรงงานเหล่านี้ ขณะที่ผู้นำกัมพูชาย้่ำว่าหากเหตุการณ์โรงงานปิดตัวเกิดขึ้น สหภาพที่ปลุกปั่นแรงงานให้ผละงานต้องเป็นผู้รับผิดชอบ.-- Agence France-Presse/Tang Chhin Sothy.</font></b>

ซินหวา - แรงงานชาวกัมพูชาจะกลายเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่สุด หากสหภาพแรงงานยังทำให้อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้าตกอยู่ในสภาวะของความไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดการณ์ได้ จากการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องให้ปรับเพิ่มค่าแรงสูงขึ้น ที่อุตสาหกรรมไม่สามารถจ่ายได้ สมาคมนายจ้างระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งในวานนี้ (2 มี.ค.)

คำแถลงของสมาคมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในกัมพูชา (GMAC) ระบุว่า คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านแรงงานได้ตัดสินใจเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำจากมติส่วนใหญ่ แต่สหภาพแรงงานส่วนน้อยยังคงข่มขู่รายวันที่จะผละงาน จัดชุมนุมประท้วง และขัดขวางการทำงาน

“โรงงานหลายแห่งได้รายงานถึงคำสั่งซื้อที่ลดลง ซึ่งจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย. นี้ หลังจากผู้ซื้อหลายรายได้ประเมิน และพิจารณาว่าเวลานี้กัมพูชาเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูง” คำแถลงระบุ และว่าความน่าเชื่อถือของกัมพูชาในแง่ของประเทศที่มีความปลอดภัย พร้อมกับแรงงาน และสังคมที่ให้ความร่วมมือในระดับสูงนั้นไม่สามารถชดเชยกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ และหากสถานการณ์เช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป แรงงานกัมพูชาจะกลายเป็นเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายที่สุด

คำแถลงยังเรียกร้องการคุ้มครองภาคอุตสาหกรรมอย่างเร่งด่วนเพื่อรับประกันการจ้างงานของแรงงานมากกว่า 600,000 คน ในอุตสหากรรมนี้

คำแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังสหภาพแรงงานที่สนับสนุนฝ่ายค้าน 8 กลุ่ม ได้ประกาศร่วมกันเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าจะผละงานประท้วงรอบใหม่ตั้งแต่วันที่ 12-19 มี.ค. เพื่อเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำที่ 160 ดอลลาร์ ให้แก่แรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุม 21 คน ที่ถูกจับตัวตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. ระหว่างการชุมนุมประท้วงรุนแรง

ประธานกลุ่มสหภาพการเคลื่อนไหวแรงงาน กล่าวว่า สหภาพแรงงานทั้ง 8 กลุ่ม เป็นตัวแทนของแรงงานราว 200,000-600,000 คน จากโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้ามากกว่า 900 แห่งในประเทศ

“เราไม่มีทางเลือก เราจะดำเนินการตามแผนที่จะนำแรงงานผละงานประท้วงอยู่กับบ้านตั้งแต่วันที่ 12-19 มี.ค. หากข้อเรียกร้องของเราไม่ได้รับการตอบสนอง”

นายกรัฐมนตรีฮุนเซน กล่าวเมื่อต้นสัปดาห์ก่อนว่า สหภาพแรงงานที่เป็นพันธมิตรกับฝ่ายค้านที่ยั่วยุปลุกปั่นแรงงานให้ผละงานประท้วงเรียกร้องปรับเพิ่มค่าแรงต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับการปิดตัวของโรงงานใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

“รัฐบาลได้ทำงานอย่างหนักที่จะดึงนักลงทุนเข้ามาสร้างโรงงาน และได้เรียกร้องให้ผู้ผลิตปรับเพิ่มค่าแรงให้แก่แรงงานทุกปี หากมีโรงงานปิดตัวเนื่องจากการชุมนุม หรือผละงานเรียกร้องค่าแรงสูงขึ้น แรงงานที่ตกงานควรชุมนุมประท้วงต่อต้านบรรดาสหภาพแรงงานที่ยั่วยุเหล่านี้ และเรียกร้องพวกเขาหางานให้” ผู้นำกัมพูชา กล่าว

อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป และรองเท้า เป็นแหล่งรายได้จากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของกัมพูชา โดยในปีที่ผ่านมา ภาคส่วนนี้ทำรายได้ให้แก่ประเทศ 5,530 ล้านดอลลาร์ สำหรับค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปัจจุบันอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ตต่อเดือน ปรับเพิ่มขึ้นจาก 80 ดอลลาร์ ในปีก่อน.
กำลังโหลดความคิดเห็น