ASTVผู้จัดการออนไลน์ - สายการบินภายในประเทศของพม่าหลายรายแสดงความสนใจที่จะบริหารสนามบินท้องถิ่นนับสิบแห่งทั่วประเทศ หลังจากกรมการบินพลเรือนพม่าอนุญาตให้แก่ภาคเอกชนเข้าบริหารจัดการ แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การ “เข้าบริหาร” ตลอดจนเงื่อนไขการลงทุนก็ตาม
นายมัตตู ผู้จัดการใหญ่ของสายการบินแอร์กันบอซา กล่าวว่า ได้ยื่นข้อเสนอที่จะเข้าบริหารสนามบินเฮโฮ ในขณะที่นายละวิน โม กรรมการบริหารสายการบินเอเชียนวิงส์ กล่าวว่า ยังไม่ได้ยื่นเสนอว่าจะดำเนินการขอเข้าบริหารสนามบินท้องถิ่น หนังสือพิมพ์อีเลฟเว่นนิวส์รายงานในเว็บไซต์
“เรากำลังจับตาดูธุรกิจนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่ามันสามารถสร้างกำไรให้เราได้ในอนาคตหรือไม่” ละวิน โม กล่าว
“สายการบินของเราสนใจที่จะลงทุนในสนามบินท้องถิ่น และเราได้สอบถามเพื่อขอดูผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) แต่เวลานี้ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเข้าดำเนินการที่สนามบินแห่งใด” หนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันรายงานอ้าง มา เกรซ รองผู้อำนวยการของแอร์บากัน (แอร์พุกาม) ซึ่งเป็นสายการบินของเอกชนแห่งแรกๆ ในพม่า
สนามบินที่อนุญาตให้เอกชนเข้าดำเนินการ ประกอบด้วย สนามบินพุกาม-นองอู เฮโฮ ทวาย พุเตา เมืองสาด เกาะสอง มี๊ตจีนา พะสิม มะริด บานเมาะ ลาเฉียว ปกเปี้ยน กะเล เกว สเมาะลำไย (มะละแหม่ง) กะนิ ปะก็อกกู ปะอัน เฮาะมะลิน จ็อกธู ลอยกอ อาน เกาะโคโค มอนยอ สิตตะเว ซันเว ท่าขี้เหล็ก เชียงตุง และสนามบินจ็อกพะยู
อย่างไรก็ตาม สนามบินเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติ และไม่อนุญาตต่างชาติเข้าลงทุนเต็มรูปแบบ อีเลฟเว่นนิวส์กล่าว
หลายประเทศได้เปิดให้เอกชนเข้าลงทุนพัฒนา และบริหารสนามบินในรูปแบบสัมปทาน เพื่อลดการลงทุนโดยรัฐบาล รวมทั้งในประเทศไทย ซึ่งสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส เป็นผู้พัฒนาก่อสร้าง และบริหารสนามบินสุโขทัย กับสนามบินสมุย เป็นต้น.