ซินหวา - กัมพูชาควรจัดการลงประชามติเพื่อตัดสินว่าประเทศจะจัดการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ หลังมีข้อกล่าวหาว่า มีความผิดปกติร้ายแรงระหว่างการเลือกตั้งเดือน ก.ค. ที่หยิบยื่นชัยชนะให้กับพรรครัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน นักวิเคราะห์การเมืองกล่าว
ผลการเลือกตั้งเดือ นก.ค. ระบุว่า พรรครัฐบาลของฮุนเซน ชนะเสียงส่วนใหญ่ได้ที่นั่งในรัฐสภา 68 ที่นั่ง ส่วนพรรคฝ่ายค้านของนายสม รังสี ได้ 55 ที่นั่ง แต่ฝ่ายค้านปฏิเสธที่จะยอมรับผลดังกล่าว และได้คว่ำบาตรรัฐสภานับแต่นั้น
นับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. สม รังสี หัวหน้าพรรคกู้ชาติกัมพูชา (CNRP) ได้จัดการชุมนุมประท้วงรายวันรอบใหม่ต่อต้านรัฐบาล และนำผู้สนับสนุนหลายพันคนเดินขบวนผ่านถนนสายต่างๆ ในกรุงพนมเปญ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ลาออก และจัดการเลือกตั้งใหม่
ประธานกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชน Licadho เสนอว่า การลงประชามติน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการฝ่าวิกฤตทางการเมืองของประเทศที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน 5 เดือน
“ในความเห็นของดิฉัน ผู้นำของ 2 พรรคการเมืองต่างก็เป็นชาวเขมร หากพวกเขามีความตั้งใจดีเหมือนกัน และต้องการรับใช้ชาติ และประชาชน พวกเขาควรนั่งลง และหารือเพื่อหาหนทางที่จะแก้ไขความขัดแย้ง” ประธานกลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าว
“ในสังคมประชาธิปไตย ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ ดังนั้น ผู้นำทั้ง 2 ควรถามประชาชนผ่านการลงประชามติว่าพวกเขาต้องการการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่ต้องการจัดการเลือกตั้งใหม่ พวกเขาควรดำเนินการตามความต้องการของประชาชน หากไม่มีการลงประชามติหรือการเลือกตั้งใหม่ วิกฤตทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ในตอนนี้อาจนำประเทศไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง และภาวะเศรษฐกิจซบเซา”
รองผู้อำนวยการใหญ่ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งราชบัณฑิตสภากัมพูชา ได้แสดงความเห็นว่า การลงประชามติเป็นรูปแบบที่นิยมใช้ในประเทศประชาธิปไตย และยังเสนอว่าผู้นำของ 2 พรรคการเมืองควรกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ทรงเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในการหารือ
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ที่บริหารประเทศมาเป็นเวลา 28 ปี กล่าวเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ว่า เขาจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง หรือจัดการเลือกตั้งใหม่เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรผิด นอกจากนั้น ฮุนเซน ยังขู่ว่าหากผู้ชุมนุมประท้วงปิดถนน หรือยึดอาคารรัฐบาลทางการจะดำเนินมาตรการทางกฎหมาย.