ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ทางการกัมพูชาเปิดเผยล่าสุดในสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนผู้ที่อ่านออกเขียนได้ทั่วประเทศได้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 80% ทั้งนี้เป็นผลการสำรวจในเดือน เม.ย.2555 จากกลุ่มตัวอย่าง 600 ครอบครัว ใน 23 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งหมดเป็นประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปเทียบกับ 77.6% ในการสำรวจ เมื่อปี 2551
ครั้งล่าสุดนี้เป็นการสำรวจกำลังแรงงานของประเทศโดยได้รับการสนับสนุนจากองค์การแรงงานสากล (International Labour Organization) ซึ่งพบว่าเมื่อต้นปี 2555 กัมพูชามีประชากร 14 ล้านคนเศษ ในนั้น 7.6 ล้านคนเป็นเพศหญิง ขณะที่มีเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 5-15 ปีจำนวนเกือบ 4 ล้าน หรือ 48.8% ของประชากรวัยเด็กทั้งหมด สำนักข่าวกัมพูชาอ้างรายงานของกระทรวงวางแผน
ระหว่างการสำรวจในปี 2555 มีเด็กวัย 5-17 ปีอยู่ในโรงเรียนคิดเป็นประมาณ 79% ของเด็กทั้งประเทศ มีอยู่ราว 11% ที่เคยไปโรงเรียนแต่ลาออกกลางคัน อีก 10% ไม่เคยได้เรียนหนังสือ รายงานที่นำเสนอโดยนายชัยทัน (Chhay Than) รัฐมนตรีกระทรวงวางแผนระบุ
การสำรวจยังพบอีกว่าในขณะนั้นมีเด็กเยาวชนวัย 5-17 ปี เข้าสู่ระบบแรงงานและทำงานในแขนงที่มีอันตรายเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
ตามข้อมูลขององค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2547 อัตราผู้รู้หนังสือในกัมพูชามีเพียง 67.1% ในนั้นเป็นอัตราในประชากรเพศชาย 74.4% และ 60.3% สำหรับประชากรหญิง
ส่วนข้อมูลขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ในปี 2551 อัตราผู้รู้หนังสือหรือผู้ที่สามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ของประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป คือ 77.6% เทียบกับ 67.3% จากการสำรวจเมื่อปี 2542
หากเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านที่พัฒนาไปไกลกว่าเช่นประเทศไทย ประชากรกลุ่มอายุระหว่าง 15-24 ปีของไทย มีอัตราการอ่านออกเขียนได้สูงถึง 98.1% เมื่อปี 2548 เพิ่มขึ้นจาก 98.0% ในปี 2543 ทั้งนี้เป็นสถิติขององค์การสหประชาชาติ.