[คลิกที่นี่.. ไล่ติดตามไต้ฝุ่นลูกใหญ่]
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ลมฟ้าอากาศในภูมิภาคแปรปรวนอย่างรวดเร็วมากในช่วงสุดสัปดาห์นี้ จนสำนักพยากรณ์อากาศแห่งต่างๆ ขยับตามไม่ทัน ขณะที่ไต้ฝุ่นกระสา (Krosa) กำลังบ่ายหน้าข้ามทะเลจีนใต้ พายุอีก 2 ลูก ก็เริ่มตั้งเค้าเป็นดีเปรสชันขึ้นทางตะวันออกของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ และถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามคาด หนึ่งในพายุลูกใหม่นี้ก็จะกลายเป็นไต้ฝุ่นลูกมหึมาขณะเคลื่อนเข้าทะเลจีนใต้ ทะลุทะลวงสู่อ่าวไทยในอีก 5 วันข้างหน้า
ดีเปรสชันทั้ง 2 ลูก ก่อตัวขึ้นอย่างกะทันหันในวันอาทิตย์ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา ห่างกันเพียงไม่กี่ชั่วโมง และโดยไม่หวั่นอิทธิพลใดๆ ของ ไต้ฝุ่นกระสาที่อยู่เหนือขึ้นไปแม้แต่น้อย สำนักอุตุนิยมวิทยาฟิลิปปินส์ หรือ PAGASA รายงานเรื่องนี้คืนวันเดียวกัน
ในช่วงค่ำวันอาทิตย์เช่นกัน ศูนย์ร่วมเตือนภัยไต้ฝุ่น หรือ JTWC (Joint Typhoon Warning Center) ในนครโฮโนลูลู ซึ่งเป็นของกองทัพเรือสหรัฐฯ กับสำนักเตือนความเสี่ยงพายุโซนร้อน หรือ TSR (Tropical Storm Risk) ได้เป็น 2 แห่งแรกที่ออกแผนภูมิแจ้งเตือนทิศทางการเคลื่อนตัวของพายุทั้ง 2 ลูกดังกล่าว
PAGASA กล่าวว่า ทั้ง 2 ลูก ซึ่งเป็นหมายเลข 30 และ 31 ในปีนี้ ตามระบบนับของฟิลิปปินส์ มีลักษณะเคลื่อนตัวติดตามกันต่อเนื่อง และต่างเร่งความเร็วซึ่งจะกลายเป็นพายุโซนร้อนในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ ในขณะลูกแรก บ่ายหน้าขึ้นฝั่ง ลูกหลังก็เคลื่อนเข้าตามเข้าหมู่เกาะ พายุทั้ง 2 ลูกนี้มีปลายทางในวันที่ 8 พ.ย.เช่นเดียวกัน แม้จะต่างสถานที่กันก็ตาม
เมื่อปั่นตัวเองขึ้นเป็นพายุโซนร้อนในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ทั้ง 2 ลูกจะได้ชื่อว่า “โพดุล” (Podul) กับ “ไห่แย่น” (Haiyan) ตามลำดับในบัญชีรายชื่อพายุรุนแรงในเขตแปซิฟิกตะวันตกที่กำกับโดยองค์การเอสแคป
“ไห่แย่น” เป็นคำในภาษาจีน หมายถึงนกทะเลชนิดหนึ่ง ส่วน “โพดุล” เป็นชื่อในภาษาเกาหลีเหนือ หมายถึงต้นหลิวชนิดหนึ่งที่คนทั่วไปใช้เป็นที่หลบแสงแดด หรือนอนตากลมเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งนี้ เป็นเสียงเรียกชื่อ และความหมายที่บันทึกเอาไว้โดยหอสังเกตการณ์ฮ่องกง (Hong Kong Observatory) หรือสำนักงานพยากรณ์อากาศของเขตปกครองพิเศษแห่งนี้
แผนภูมิพยากรณ์ชิ้นแรกของ JTWC แสดงให้เห็นพายุลูกที่ 31 (โพดุล) ขนาดมหึมามุ่งหน้าเข้าหมู่เกาะฟิลิปปินส์ โดยคาดว่าจะเข้าถึงฝั่งในอีก 5 วันข้างหน้า เมื่ออ่อนตัวลงเป็นพายุโซนร้อน ในขณะพายุลูกที่ 30 (ไห่แย่น) เริ่มเคลื่อนออกจากหมู่เกาะฟิลิปปินส์ มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ปั่นตัวเองขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 ขนาดใหญ่กลางทะเลจีนใต้ในวันที่ 6 พ.ย.
พายุลูกที่ 30 มีขนาดใหญ่โตมหึมาเช่นเดียวกัน แผนภูมิพยากรณ์ได้แสดงให้เห็นพายุโพดุลในอนาคตแผ่ปกคลุมบริเวณอ่าวไทยจนมิดเมื่อเคลื่อนเข้าสู่บริเวณดังกล่าวนี้ในวันที่ 8 พ.ย.ขณะมีสภาพเป็นดีเปรสชันระดับรุนแรงที่แผ่อิทธิพลปกคลุมกรุงเทพฯ กับภาคกลางตอนล่างของไทยไปจนถึงเขตทะเลอันดามัน
ทั้งหมดนี้เป็นการพยากรณ์โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา MTSAT ในค่ำวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และ JTWC กล่าวว่า จะต้องจับตาพัฒนาการของพายุทั้ง 2 ลูกอย่างใกล้ชิดต่อไป.