เอเอฟพี - โม เซ็ต ไว สาวนักเรียนนอกชาวพม่า ได้รับเลือกให้เป็นมิสยูนิเวิร์สคนแรกของประเทศในรอบมากกว่า 50 ปี โดยจะขึ้นทำหน้าที่เป็นตัวแทนประเทศบนเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์สในกรุงมอสโก รัสเซีย เดือนหน้า
การประกวดมิสยูนิเวิร์สพม่าครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และสังคมในประเทศที่ในอดีตเคยปกครองโดยรัฐบาลทหาร ซึ่งเคยเข้าร่วมเวทีการประกวดมิสยูนิเวิร์สครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2504
“ฉันรู้สึกเหมือนฉันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ และฉันรู้สึกเหมือนเป็นทหารที่กำลังจะทำหน้าที่เพื่อประเทศ และประชาชนของเรา” สาวพม่าอายุ 25 ปี จบการศึกษาด้านธุรกิจจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลูเธอรัน สหรัฐฯ กล่าว หลังได้รับตำแหน่งเมื่อค่ำวานนี้ (3 ต.ค.)
“ฉันยังรู้สึกตกใจ และไม่อยากจะเชื่อเลยว่ามันเกิดขึ้น ฉันรู้สึกมีความสุขมาก เพราะในตอนนี้ฉันได้โอกาสที่จะเป็นตัวแทนของประเทศ” มิสยูนิเวิร์สพม่าคนล่าสุดกล่าว
ตามที่ระบุในเว็บไซต์ของการประกวด ความปรารถนาของโม เซ็ต ไว คือ การประสบความสำเร็จและสามารถที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ต้องการ
แม้พม่าจะเปิดประเทศสู่โลกภายนอกหลังการปกครองของรัฐบาลทหารพม่านานหลายทศวรรษสิ้นสุดลงในปี 2554 แต่ยังคงไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับการแต่งกายด้วยเสื้อผ้ารัดรูปน้อยชิ้น เช่นไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ มีภาพนางแบบคนหนึ่งถูกข่มขู่คุกคาม เนื่องจากภาพขณะสวมชุดว่ายน้ำทูพีซหลุดปรากฏบนอินเทอร์เน็ต ดังนั้น มิสยูนิเวิร์ส ต้องระมัดระวังไม่ให้เปิดเปลือยช่วงหน้าท้องในช่วงการประกวดชุดว่ายน้ำ
“ในมุมมองส่วนตัวของฉันคิดว่านี่เป็นการแข่งขันที่แสดงภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ แต่สิ่งที่พวกคุณเห็นพวกเขาสวมใส่ นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ที่นี่สวมใส่กัน” รัฐมนตรีช่วยกระทรวงวัฒนธรรมพม่า กล่าว
ซอ คูเสะ นักแต่งเพลง ที่เป็นหนึ่งในกรรมการตัดสิน กล่าวว่า เขารู้สึกภูมิใจอย่างมากที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงาน
“หลังจากผ่านไป 50 ปี ผมรู้สึกยินดีอย่างมากที่พม่าได้รับเชิญให้เข้าร่วมในการแข่งขันรูปแบบนี้” ซอ คูเสะ กล่าว
ชุดประจำชาติพม่าที่เรียกร้องว่า “ลองยี” ที่เป็นผ้าคอตตอน หรือผ้าไหมห่มพันรอบเอว และปล่อยชายยาวถึงข้อเท้า ยังคงบังคับให้ใส่ในโรงเรียนมัธยม มหาวิทยาลัย และสถานที่ราชการส่วนใหญ่
แต่คนรุ่นใหม่มักไม่ค่อยแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ และหันไปแต่งตัวด้วยชุดทั่วไปแบบที่ไม่เป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคลื่นวัฒนธรรมเกาหลีถาโถมเข้าใส่ ไม่ว่าจากละคร ภาพยนตร์ ดนตรี K-Pop และเสื้อผ้า
“ชาวพม่าไม่กล้าแต่่งตัวด้วยชุดแบบนี้ในสมัยก่อน แต่ในตอนนี้ทุกอย่างพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนกล้าที่จะสวมเสื้อผ้าหลากหลายมากขึ้น ในฐานะดีไซเนอร์ ฉันสามารถออกแบบอะไรก็ได้ตามที่ฉันชอบ ฉันรู้สึกยินดีที่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลง” เต เต ติน ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายให้ผู้เข้าประกวดกล่าว.