.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามกำหนดการ ทีมนักโบราณคดีไทย และพม่าจะนำเสนอแผนบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณสุสานที่ประดิษฐานพระสถูป พระเจ้าอยู่หัวฯ อุทุมพร พระมหากษัตริย์จากกรุงศรีอยุธยา ต่อทางการนครมัณฑะเลย์ในสัปดาห์นี้ ภายใต้งบประมาณดำเนินการราว 100 ล้านบาท (3.23 ล้านดอลลาร์) หรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญในความร่วมมือระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านที่มีความผูกพันทางประวัติศาสตร์อันน่าจดจำมากที่สุด
ตามแผนการนั้น ฝ่ายไทยพร้อมที่จะบูรณะบริเวณพระสถูปบรรจุพระอัฐิ ในบริเวณเดียวกับที่เชื่อเป็นจุดฌาปนกิจพระศพอดีตกษัตริย์ ซึ่งอาจจะใช้พื้นที่ราว 20 เอเคอร์ (50.5 ไร่เศษ) ในบริเวณสุสานเก่าแก่ที่ใช้มาหลายยุค ในเขตเมืองหลวงเก่าทางตอนใต้นครมัณฑะเลย์ ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นสวนประวัติศาสตร์ (Historical Park) ซึ่งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่ง
อาณาบริเวณที่ประดิษฐานพระสถูปนั้น เชื่อมติดกับแหล่งฝังศพของชนอีกหลายกลุ่มรวมทั้งชาวอิสลาม และชาวคริสต์ ทั้งหมดอยู่ในเขตสุสานลินซินกอน (Linn Zin Kone) ซึ่งตั้งอยู่บนเนินชื่อเดียวกัน ฝ่ายไทยยังพร้อมที่จะบูรณะขึ้นใหม่ทั้งหมด “โดยเพิ่มงบประมาณได้อีกถ้าหากจำเป็น” สื่อพม่ารายงานอ้างคำพูดของผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีของฝ่ายไทยคนหนึ่งในสัปดาห์นี้
ทีมเจ้าหน้าที่ไทยได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายพม่าเปิดแถลงเกี่ยวกับแผนการดังกล่าวก่อนหน้านี้ในวันที่ 29 มิ.ย. การแถลงข่าวจัดขึ้น ณ จุดที่เชื่อว่าเป็นที่ประดิษฐานพระสถูปพระเจ้าอุทุมพรในเขตอมราปุระ หรืออมรปุระ (Amarapura) เมืองหลวงเก่าที่ตั้งอยู่ริมทะเลสาบทองตะมาน (Taungthaman Lake) ห่างจากใจกลางนครมัณฑะเลย์ ลงไปทางใต้ราว 16 กิโลเมตร
เนื่องจากตัวเมืองขยายออกอาณาบริเวณไปอย่างไม่หยุดยั้ง ปัจจุบัน อมราปุระถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของนครใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ
ที่นั่นเป็นที่ตั้งของ “สะพานนายเบ็ง” (U Bein Bridge) ยาวประมาณ 1.2 กิโลเมตร เป็นสะพานคนเดินทอดข้ามบึงน้ำใหญ่โดยใช้ไม้สักจากพระราชวังเก่ากรุงอังวะ (Inn Wa หรือ Ava) ไปก่อสร้าง กลายเป็นสะพานไม้สักยาวที่สุดในโลก เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว หลายฝ่ายได้แสดงความวิตกกังวลว่า พระสถูปซึ่งเก็บพระอัฐิ รวมทั้งบริเวณที่จัดฌาปนกิจพระศพของอดีตกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเมื่อกว่า 200 ปีก่อน อาจจะถูกทุบทำลายทิ้ง ภายใต้โครงการพัฒนามัณฑะเลย์ เพื่อเปลี่ยนบริเวณสุสานเก่าแก่ให้เป็นสวนสาธารณะ
เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลสถานที่กล่าวว่า แต่ละปีมีคนไทยไปเที่ยวชมเป็นจำนวนมาก ชาวไทยจะไปกราบไหว้บูชาพระสถูปอดีตกษัตริย์
นิตยสารข่าวออนไลน์อิรวดี เคยอธิบายว่า “ลินซิน” เป็นศัพท์เก่าแก่ที่พม่าใช้เรียกชาวลาว และประเทศลาวในสมัยโบราณ ที่นั่นจึงมีความหมายว่า “สุสานลาว” ซึ่งในปัจจุบันหลายคนเรียกว่า “สุสานล้านช้าง”
ส่วนหนึ่งของอาณาบริเวณจะมีสถูปเก่าแก่ที่ใกล้หักพังสร้างเป็นรูปทรงพระโกศ ที่ใช้เก็บพระอัฐิของกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย-รัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งไม่ใช่ศิลปะพม่า หรือศิลปะมอญ จึงทำให้หลายฝ่ายปักใจเชื่อมาตลอดว่าที่นั่นเป็นพระสถูปพระเจ้าอุทุมพร แต่ยังไม่เคยมีการขุดค้นอย่างจริงจัง ท่ามกลางข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่สับสน
.
2
3
4
5
6
7
8
9
.
จนกระทั่งเดือน ก.พ.ปีนี้ ไทยและพม่าจึงได้ตกลงร่วมมือกันศึกษา และขุดค้นบริเวณพระสถูปและพบหลักฐานสำคัญสำคัญหลายชิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ บาตรโลหะที่วางอยู่บนพานแว่นฟ้า ฝาปิดมีร่องรอยการปิดด้วยทองคำเปลวให้เห็น และยังประดับเป็นลวดลายด้วยวัสดุแวววาวคล้ายกระจก มีลายสัตว์หิมพานต์อยู่ที่ฐานแว่นฟ้า
หลักฐานนี้พบอยู่ในสถูปเล็กหลังหนึ่งที่อยู่ใกล้กับพระสถูปใหญ่รูปทรงพระโกศ พบพร้อมกับเศษผ้าเหลืองของพระสงฆ์ และอัฐิของคนที่หลงเหลือจากการเผาอีกจำนวนหนึ่งที่เข้าใจว่าจะเป็นพระอัฐิพระเจ้าอุทุมพร
นายวินหม่อง (Win Maung) นักโบราณคดีพม่าที่ร่วมทำการศึกษา และขุดค้นเชื่อว่า ตรงจุดที่ตั้งสถูปรูปทรงพระโกศนั้น เป็นจุดที่ฌาปนกิจพระบรมศพของพระเจ้าอุทุมพร เมื่อทรงสิ้นพระชนม์เมื่อปี 2339 หลังจากทรงผนวชอยู่ในดินแดนพม่าเป็นเวลา 29 พรรษา ทั้งในอังวะ และอมราปุระ
พระเจ้าอยู่หัวฯ อุทุมพร ทรงถูกอัญเชิญไปยังพม่าพร้อมข้าราชบริพาร กับพระบรมวงศานุวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยากว่า 2,000 พระองค์ กับราษฎรอีกกว่า 200,000 คน หลังจากเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ 2
พระเจ้ามังระ หรือพระเจ้าเซงพยูเชง (Hsin Phyu Shin) แห่งกรุงอังวะ ส่งกองทัพใหญ่ไปตั้งปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2307 และใช้เวลา 3 ปี ก่อนเข้าตีจนแตกพ่ายในปี พ.ศ.2310 ก่อนที่พม่าจะเผาทำลายเสียหายอย่างหนัก
เมื่อพระเจ้าอุทุมพร เสด็จสวรรคต พระเจ้าโบดอพญา (Bhodawpya) ผู้ทรงสถาปนาอมราปุระเป็นราชธานี ได้โปรดเกล้าฯ ให้ฌาปณกิจพระศพ และเก็บพระอัฐิไว้ในบริเวณปัจจุบันที่เคยใช้เป็นสุสานสำหรับพระศพเจ้านายชั้นสูง
นักโบราณคดีของทั้งสองฝ่ายกล่าวว่า การบูรณปฏิสังขรณ์พระสถูปขึ้นมาใหม่จะเป็นสิ่งเตือนใจประชาชนสองประเทศ และยังสะท้อนให้เห็นความเอาใจใส่ของฝ่ายพม่าต่ออดีตกษัตริย์ของไทยในขณะที่ทรงพำนักในแผ่นดินพม่าอีกด้วย นิตยสารข่าวเมียนมาร์ไทมส์รายงานเรื่องนี้.