.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - เวียดนามเปิดเมืองท่าแห่งต่างๆ ต้อนรับเรือรบของมิตรประเทศบ่อยเป็นว่าเล่น และล่าสุด เรือฟรีเกตของกองทัพเรือฝรั่งเศสอีกลำหนึ่งกำลังอยู่เยือนนครโฮจิมินห์ในภาคใต้ในสัปดาห์นี้ ขณะที่กองเรือรบของอินเดีย เริ่มเยือนเมืองท่าทางตอนเหนือของประเทศซึ่งเป็นเที่ยวเยือนที่ 6 และ 7 นับแต่ต้นปีเป็นต้นมา
สิ่งนี้สะท้อนนโยบายของเวียดนามที่เป็นมิตรกับทุกประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ หรือไกลสักเพียงใด และยังสอดคล้องกับนโยบายที่จะเปิดท่าเรืออีกแห่งหนึ่งในบริเวณอ่าวกามแรง (Cam Ranh) ทางภาคกลาง เพื่อให้เรือรบ กับเรือพาณิชย์ของประเทศต่างๆ แวะเข้าไปใช้บริการซ่อมบำรุงได้ในอนาคต สำนักข่าวออนไลน์ภาษาเวียดนามรายงาน
หลายปีก่อนหน้านี้ เวียดนามได้ประกาศนโยบายเกี่ยวกับการต้อนรับการเยือนของเรือรบจากต่างแดน โดยจะรับการเยือนได้เพียงปีละ 2 คณะเท่านั้น ทางการได้เปิดท่าเรือเตี่ยนซา นครด่าหนัง กับท่าเรือไซ่ง่อน ในโฮจิมินห์ เป็นเมืองที่ต้อนรับ
แต่หลายปีมานี้ คณะเยือนได้เพิ่มจำนวนขึ้นแบบไม่มีการจำกัด และเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นในช่วงปีที่จีนประกาศครอบครองพื้นที่ราว 80% ของทะเลจีนใต้ ซึ่งกินลึกเข้าไปจนถึงเขตน่านน้ำไหล่ทวีปของเวียดนามกับประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้ด้วย
เรือลาดรัว (l' Adroit) เข้าจอดเทียบท่าเรือไซ่ง่อนวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา สำหรับการเยือนสันถวไมตรีจนถึงวันที่ 1 มิ.ย.นี้ และในระหว่างนี้คณะเยือนจากฝรั่งเศสมีกิจกรรมอย่างหลากหลาย รวมทั้งการพบหารือกับคณะผู้แทนกองบัญชาการทหารเขต 7 และกองทัพเรือภาค 2 รวมทั้งคณะกรรมการประชาชนนครโฮจิมินห์ด้วย หนังสือพิมพ์ออนไลน์เดิ๊ตเหวียด (Bao Dat Viet) รายงาน
เรือลาดรัว ขนาด 2,400 ตัน เป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง หรือโอพีวี (Off-shore Patrol Vehicle) ติดจรวดนำวิถีรุ่นล่าสุดอีกรุ่นหนึ่งของกองทัพเรือฝรั่งเศส ขึ้นระวางประจำการเมื่อปีที่แล้ว และอยู่ระหว่างการทดลองออกปฏิบัติหน้าที่เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ภาคใต้ของประเทศ แอฟริกา มหาสมุทรอินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมทั้งการเยือนมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนามด้วย
เดิ๊ตเหวียดรายงานอ้างคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกโดยสถานทูตฝรั่งเศส ในกรุงฮานอย
นี่คือโอพีวีชั้นโกวินด์ (Gowind-Class) ติดจรวดเอ็กโซเซต์ บรรทุกเฮลิตอปเตอร์ 1 ลำ กับยานบินไร้คนบังคับอีก 1 ลำ สำหรับบินตรวจการณ์ล่วงหน้า สร้างขึ้นมาเพื่อปฏิบัติการชายฝั่งโดยเฉพาะ กองทัพเรือมาเลเซียเซ็นสัญญาซื้อ จำนวน 5 ลำ เมื่อปี 2554 รวมมูลค่าเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์ มีกำหนดส่งมอบในปี 2560
ก่อนหน้านี้เพียง 1 สัปดาห์ ราชนาวีไทยได้ส่งเรือหลวงนราธิวาส ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งลำหนึ่งไปเยือนสันถวไมตรีเวียดนาม เรือได้แวะจอดทีท่าเรือไซ่ง่อน วันที่ 14 พ.ค. สำหรับการเยือนเป็นเวลา 5 วัน
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. นครโฮจิมินห์ ได้ต้อนรับเรือเทมานา (HMNZS Te Mana) ของกองทัพเรือนิวซีแลนด์ ที่ไปเยือนเป็นเวลา 6 วัน พร้อมลูกเรือกับนายทหาร 170 นาย
ก่อนหน้านั้น วันที่ 21 เม.ย. เวียดนามเปิดท่าเรือเตี่ยนซา นครด่าหนังในภาคกลาง ต้อนรับเรือพิฆาตชุงฮูน (USS Chung-Hoon -- DDG 93) ของกองทัพเรือสหรัฐฯ เป็นเรือรบติดระบบอำนวยการอีจิส (AEGIS) อันล้ำสมัย ติดจรวดนำวิถี และจรวดร่อนโทมาฮอว์ก ซึ่งไปเยือนพร้อมกับเรือซาลเวอร์ (USSN Salvor -- T-ARS 52) ซึ่งเป็นเรือกู้ภัย และสนับสนุน
ระหว่างการเยือน 5 วัน สองฝ่ายได้มีกิจการฝึกซ้อมที่ไม่เกี่ยวกับการสู้รบในหลายด้าน และฝ่ายสหรัฐฯ กล่าวในช่วงนั้นว่า มีความปรารถนาจะขยายความสัมพันธ์กับกองทัพเรือเวียดนามในเชิงลึกยิ่งขึ้น
ต้นเดือน มี.ค. สื่อของทางการรัสเซียรายงานว่า กองเรือรบสังกัดกองกำลังแปซิฟิกของรัสเซีย ซึ่งนำโดยเรือพิฆาตชั้นอูดาลอยลำหนึ่ง กำลังจะไปแวะเยือนอ่าวกามแรง (Cam Ranh) เป็นครั้งแรก โดยไม่ได้ระบุวัน แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้อีก
อ่าวกามแรง (คัมราน?) เคยเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือ และฐานทัพอากาศที่สหรัฐฯ สร้างขึ้นมาในช่วงสงครามเวียดนาม และอดีตสภาพโซเวียตเข้าไปใช้ต่อหลังจากฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือยึดครองภาคใต้ได้สำเร็จ กลายเป็นฐานทัพนอกประเทศใหญ่ที่สุดของอภิมหาอำนาจคอมมิวนิสต์
ในเดือน มี.ค.เช่นกัน กองทัพเรือสิงคโปร์ได้ส่งเรือเอ็นดูรันช์ (RSS Endurance) ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกทันสมัยพร้อมลูกเรือ 216 นาย ไปเยือนนครโฮจิมินห์ เป็นเวลา 5 วัน สองฝ่ายทำกิจกรรมร่วมกันในหลายเนื้อหา รวมทั้งเข้าเยี่ยมคำนับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับนคร ระดับกองทัพภาค และกองเรือเขตด้วย
ในสัปดาห์ที่ 2 ของปี เรือรบจีนได้กลายเป็นแขกเยือนคณะแรกในปีนี้ เรือพิฆาต 2 ลำ กับเรือสนับสนุนอีก 1 ลำ ได้แวะเยือนนครโฮจิมินห์ สองฝ่ายได้ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันตลอดระยะเวลา 5 วัน ก่อนที่ฝ่ายจีนจะจากไปเพื่อปฏิบัติภารกิจปราบปรามโจรสลัด และคุ้มครองกองเรือสินค้าในเขตตะวันตกมหาสมุทรอินเดีย
นอกจากกองเรือรบของประเทศเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงแล้ว ช่วงไม่กี่ปีมานี้ เวียดนามยังได้ต้อนรับเรือรบจากมิตรที่อยู่ไกลออกไปหลายครั้ง รวมทั้งจากเกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา และจากหลายประเทศในยุโรป
อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังคงสงวนอ่าวกามแรงเอาไว้ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือใหญ่ในภาคกลาง และกำลังจะเป็นฐานเรือดำน้ำอีกแห่งหนึ่งอีกด้วย ปัจจุบัน มีเพียงเรือสนับสนุนของกองทัพเรือสหรัฐฯ ไม่กี่ลำที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปใช้บริการซ่อมบำรุงในอ่าวยุทธศาสตร์แห่งนี้
ทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียต่างปรารถนาจะเข้าใช้อ่าวกามแรง นายเลียน แพเน็ตตา อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ซึ่งไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว ได้ไปเยือนอ่าวแห่งนี้ซึ่งเป็นการกลับไปเยือนฐานทัพเก่าครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี และนายแเพเน็ตตา กล่าวว่า ท่าเรือใหญ่มีความสำคัญยิ่งต่อสหรัฐฯ ในช่วงปีที่ขยายกองกำลังราว 60% เข้าสู่ภูมิภาค
พล.อ.เซอร์เก ชอยกู รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย ซึ่งไปเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 2 วัน ในต้นเดือน มี.ค.ปีนี้ ได้เจียดเวลาครึ่งวันไปเยี่ยมชมอ่าวกามแรง และแสดงความปรารถนาที่จะขอใช้เป็นแหล่งซ่อมบำรุง และเป็นแหล่งหยุดพักสำหรับเรือรบ
ระหว่างการเยือนกรุงมอสโก ของนายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายเหวียนเติ๋นยวุ๋ง ในสัปดาห์กลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สื่อในรัสเซียรายงานว่า นรม.เวียดนามได้ให้คำมั่นจะ “จัดความสำคัญในอันดับต้นๆ” อำนวยความสะดวกให้แก่เรือรบรัสเซีย เพื่อเข้าไปใช้อ่าวกามแรง.
.
2
3
4