.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - กองเรือรบสังกัดกองเรือภาคตะวันออกไกล กองทัพเรืออินเดีย ที่นำโดยเรือพิฆาตติดอาวุธนำวิถีชั้นราชบุตร (Rajput-Class) กับเรือฟรีเกต เรือคอร์แว็ต และเรือสนับสนุนอีก 1 ลำ มีกำหนดแวะเยือนเวียดนามในวันพุธ 29 พ.ค.นี้ ในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ และกองทัพเรือของสองฝ่าย สถานทูตอินเดีย ประจำกรุงฮานอย ประกาศเรื่องนี้ในคำแถลงฉบับหนึ่งที่ออกในวันจันทร์ที่ผ่านมา
อินเดียซึ่งมีกองทัพเรือใหญ่โตที่สุดในเอเชีย ได้ส่งเรือรบตระเวนเยือนหลายประเทศในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นประจำทุกปี เที่ยวนี้ได้แวะเยือนอินโดนีเซียเป็นแห่งแรก ก่อนเยือนมาเลเซีย และได้ออกเดินทางต่อในวันที่ 25 พ.ค. มุ่งหน้าสู่ท่าเรือนครหายฝ่อง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเวียดนาม
เรือรบอินเดียทั้ง 4 ลำ มีกำหนดจะไปแวะเยือนเพื่อกระชับความสัมพันธ์ความร่วมมือกับฟิลิปปินส์ เป็นแห่งสุดท้ายในสัปดาห์ต้นเดือน มิ.ย. สถานทูตอินเดียกล่าว
เรือราชบุตร (INS Rajput –D 51) ขนาด 5,000 ตัน ความยาว 147 เมตร เป็นอีกเวอร์ชันหนึ่งของเรือพิฆาตชั้นคะชิน (Kashin ) ของสหภาพโซเวียตเมื่อก่อน เรียกกันในอีกชื่อหนึ่งคือ Kashin II บรรทุกเฮลิคอปเตอร์ขนส่ง-ปราบเรือดำน้ำ 1 ลำ ความเร็วสูงสุด 35 นอต หรือ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นเรือต้นของเรือพิฆาตชั้นเดียวกัน จำนวน 5 ลำ ติดระบบเรดาร์กับระบบควบคุมต่างๆ ทันสมัย ติดอาวุธหัวจดท้าย
เรือทั้ง 5 ลำ ต่อในสาธารณรัฐยูเครน ขึ้นระวางประจำการระหว่างปี พ.ศ.2526-2531 แต่ละลำใช้ลูกเรือ 320 คน รวมทั้งนายทหารเรือ 35 นาย
เรือพิฆาตชั้นนี้ติดจรวดบรามอส (BraMos) จรวดยิงทำลายเรือข้าศึกความเร็วระดับซูเปอร์โซนิกในตระกูลจรวดคลับ (Klub) ที่มีชื่อเสียงของสหภาพโซเวียต เป็นการร่วมผลิตระหว่างอินเดียกับรัสเซียในยุคใหม่ และติดระบบอาวุธปราบปรามเรือใต้น้ำกับระบบต่อสู้อากาศยานของรัสเซีย
กองทัพเรืออินเดีย ประสบความสำเร็จในการยิงจรวดบรามอสจากเรือดำน้ำเป็นครั้งแรกในการทดลองเดือนที่แล้ว และกำลังพัฒนาต่อไปเพื่อติดตั้งบนเครื่องบินตรวจการณ์-ปราบเรือดำน้ำแบบ พี-8 “โพไซดอน” (P-8 Poseidon) ที่อินเดียซื้อจากสหรัฐฯ จำนวน 8 ลำ และเพิ่งได้รับมอบลำแรกในเดือน พ.ค.นี้
ตามข้อมูลจากเว็บไซต์ภารตะรักศักดิ์ (Bharat-Rakshak) ซึ่งเป็นสำนักข่าวกลาโหมชั้นนำ อาวุธสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่ติดตั้งบนเรือพิฆาตชั้นราชบุตรก็คือ ระบบจรวด “ธนู” (Dhanush หรือ “ธนูศร”) ซึ่งเป็นระบบขีปนาวุธโจมตีระยะใกล้ (Short-Range Ballistic Missile System) ยิงจากพื้นสู่พื้นที่พัฒนาจากจรวด “ปฐวี” (Prithvi) ของกองทัพบก ใช้ยิงทำลายเรือรบข้าศึก หรือทำลายเป้าหมายขนาดใหญ่บนฝั่ง โดยติดหัวรบขนาด 500 กิโลกรัม และติดหัวรบนิวเคลียร์ได้
ในเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว กองทัพเรืออินเดียประสบความสำเร็จในการยิงจรวดธนูจากเรือรบในทะเลเบงกอล ไปทำลายเป้าหมายบนฝั่งที่อยู่ห่างออกไป 350 กม.ในรัฐโอริสสะ ทำลายเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ เว็บไซต์แห่งเดียวกันรายงาน
.
2
3
4
เรือสัตบุระ (INS Satupura -- F 48) ขนาด 6,200 ตัน ยาว 142.5 เมตร บรรทุกเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ 1 ลำ เป็นเรือรูปทรง “สเตลธ์” ติดจรวดบรามอส และเป็นลำที่ 2 ในบรรดาเรือฟรีเกตชั้นศิวลิก (Shivalik) จำนวน 3 ลำที่ขึ้นระวางประจำการระหว่างปี 2553-2555
เรือทั้งหมดต่อในอินเดีย ติดระบบอาวุธปราบเรือดำน้ำ ระบบอาวุธต่อสู้อากาศยานจากรัสเซีย ใช้ระบบเรดาร์-ระบบควบคุมต่างๆ รวมทั้งระบบโซนาร์ที่ผลิตในรัสเซีย และอิสราเอล ใช้ลูกเรือทั้งหมด 257 คน รวมทั้งนายทหารเรือ 35 นาย
อีก 1 ลำคือ เรือ “กริช” (INS Kirch -- P 62) ซึ่งเป็นลำที่ 2 ในบรรดาเรือคอร์แว็ตชั้นกอรา (Kora-Class) ขนาด 1,350 ตัน ยาว 91.1 เมตร ทั้งหมด จำนวน 4 ลำ เป็นเรือติดจรวดนำวิถี และติดปืนใหญ่ พร้อมเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำอีก 1 ลำ
กองเรือที่ไปเยือนเวียดนามยังประกอบด้วยเรือศักดิ์ (INS Shakti -- A 57) ซึ่งเป็นเรือสนับสนุนขนาด 27,500 ตัน บรรทุกน้ำดื่ม-น้ำมันเชื้อเพลิง และเสบียงอาหาร เป็นเรือแบบเดียวกัน 1 ใน 2 ลำที่ต่อโดยบริษัทฟินกันเตียรี (Fincantieri) จากอิตาลี
บริษัทน้ำมันอินเดียได้เข้าสำรวจหาทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในเขตน่านน้ำนอกชายฝั่งเวียดนามมานานนับสิบปี ซึ่งบางส่วนถูกรวมเข้าในเขตน่านน้ำที่จีนประกาศเป็นเจ้าของเมื่อไม่กี่ปีมานี้
นอกจากนั้น อินเดียยังมีกองเรือรบประจำที่หมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar) ทางตะวันออกไกลของมหาสมุทร ในทะเลอันดามัน ซึ่งเป็นหน้าด่านเข้าสู่ช่องแคบมะละกา และในช่วงหลายปีมานี้อินเดียส่งเรือรบเยือนเวียดนามประจำทุกปี เมื่อปีที่แล้วส่งเรือฟรีเกตชั้นศิวลิก 1 ลำ กับเรือคอร์แว็ตชั้นกอราอีก 1 ลำ ไปเยือนเมืองท่าหายฝ่องเช่นเดียวกัน
.
5
6
7
อินเดียกับจีนพิพาทกันมาเป็นเวลาครึ่งศตวรรษเกี่ยวกับดินแดนในเขตเทือกเขาหิมาลัยที่ห่างไกล ความตึงเครียดรอบใหม่เริ่มขึ้นปลายเดือนที่ อินเดียส่งทหาร และอาวุธยุทโธปกรณ์เข้าสู่เขตชายแดนติดกับจีน หลังจากกล่าวหาว่าจีนส่งทหารเข้าไปตั้งค่ายในทุ่งน้ำแข็งที่เป็นเขตยึดครองของอินเดีย
สองฝ่ายได้เปิดการเจรจา และลงเอยด้วยต่างฝ่ายต่างถอนทหารกลับสู่ที่ตั้งเดิมเพื่อยุติการเผชิญหน้า ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่นายหลี่เค่อเฉียง (Li Keqiang) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของจีน จะไปเยือนอินเดียเพียงข้ามสัปดาห์
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไทมส์ (Times of India) ระหว่างพบหารือกับนายกรัฐมนตรีจีนในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนนี้ นายมนมหันต์ ซิงห์ (Manmohan Singh) นรม.อินเดีย ได้บอกแก่ผู้ไปเยือนอย่างตรงไปตรงมาว่า อินเดียไม่เห็นด้วยกับนโยบายต่อทะเลจีนใต้ของฝ่ายจีน
อินเดียมีกองกำลังนาวีใหญ่โตในอันดับต้นๆ ของโลก ปัจจุบัน มีเรือบรรทุกเครื่องบิน 1 ลำ ลำที่ 2 มีกำหนดส่งมอบจากรัสเซียในเดือน พ.ย.ศกนี้ และยังมีแผนการที่จะสร้างเองอีก 1 ลำ มีเรือจู่โจมยกพลขึ้นบก 9 ลำ เรือพิฆาต 8 ลำ เรือฟรีเกตชั้นต่างๆ 15 ลำ เรือคอร์แว็ต 24 ลำ เรือดำน้ำโจมตีพลังงานนิวเคลียร์ 1 ลำ เรือดำน้ำโจมตีรุ่นอื่นๆ อีก 14 ลำ
กองทัพเรืออินเดียมีเรือรบที่ขึ้นระหว่างประจำการรวมกว่า 130 ลำ ทั้งนี้ ไม่นับรวมกับเรือเร็วโจมตี กับเรือตรวจการณ์ชายฝั่งติดปืนอีก 40-50 ลำ.