เอเอฟพี - ญี่ปุ่นในวันนี้ (26) ได้ประกาศให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา และเงินกู้ยืมแก่พม่ามูลค่าหลายร้อยล้านดอลลาร์ ในการกระตุ้นความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วที่ถูกมองว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญในภูมิภาค
กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดเผยคำแถลงร่วมระหว่างผู้นำญี่ปุ่น และพม่าว่า นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น ที่ได้ให้คำมั่นจะมอบความช่วยเหลือที่เป็นไปได้เพื่อเริ่มต้นเศรษฐกิจที่ถูกทอดทิ้งมาเป็นเวลานานของพม่า ได้เห็นชอบในแผนต่างๆ ระหว่างหารือกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่กรุงเนปีดอ
“ในการวางรากฐานใหม่เพื่อนำพาความสัมพันธ์ระหว่างญี่ปุ่น และพม่าไปยังระดับที่สูงขึ้นและสร้างความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน เป็นมิตร และความร่วมมือ ญี่ปุ่น และพม่าจะทำงานร่วมกัน” คำแถลงระบุ
การเยือนของอาเบะในครั้งนี้ นับเป็นการเยือนครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นับตั้งแต่ปี 2520 ที่ประกาศถึงความสัมพันธ์อันอบอุ่นที่เพิ่มขึ้นระหว่างญี่ปุ่นและพม่า ในขณะที่พม่าเดินหน้าปฏิรูป และได้รับการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรส่วนใหญ่จากชาติตะวันตกเพื่อกระตุ้นการลงทุนในประเทศ
ส่วนหนึ่งของข้อตกลงฉบับใหม่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ให้คำมั่นที่จะจัดสรรเงินกู้ยืม จำนวน 51,000 ล้านเยน (498.5 ล้านดอลลาร์) ต่อพม่า ที่ครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ ที่รวมทั้งถนน ไฟฟ้า และประปา การบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้า และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวา ใกล้นครย่างกุ้ง ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 ประเทศในเดือน ธ.ค.
ญี่ปุ่นยังยืนยันที่จะยกเลิกหนี้ค้างชำระ จำนวน 1,740 ล้านดอลลาร์ ที่เป็นส่วนสุดท้ายของหนี้ค้างชำระรวม 3,400 ล้านดอลลาร์ ที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้คำมั่นที่จะยกเลิกในเดือน เม.ย.2555 ที่เป็นความเคลื่อนไหวซึ่งขึ้นอยู่กับความคืบหน้าในการปฏิรูปของพม่า
“ในการสนับสนุนการพัฒนาของพม่า และการจัดการกับหนี้ค้างชำระกับพม่า รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะจัดสรรทุนกู้ยืมจำนวนใหม่ รวมทั้งเงินกู้ยืมช่วยเหลือ” คำแถลงระบุ
ญี่ปุ่นยังได้ประกาศมอบความช่วยเหลือมูลค่า 2,400 ล้านเยน (23 ล้านดอลลาร์) สำหรับการจัดการน้ำในนครย่างกุ้ง และโครงการทุนเล่าเรียนสำหรับผู้บริหารที่ควบคุมดูแลการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ
ในวันเสาร์ (25) ผู้นำญี่ปุ่นได้เยี่ยมชมโครงการติลาวา ที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 15,000 ไร่ ที่จะรวมทั้งท่าเรือ และนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามส่งเสริมบริษัทของญี่ปุ่น และความเชี่ยวชาญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ รายงานว่า ข้อตกลงความเข้าใจที่ลงนามเพื่อพัฒนาโครงการนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทพม่า 9 แห่ง และบริษัทจากญี่ปุ่น 3 แห่ง
ทั้งนี้ นายกฯ อาเบะ ได้เดินทางมาพร้อมกับคณะผู้แทนทางธุรกิจชั้นนำของญี่ปุ่นทั้งหมด 40 คน จากบริษัท เช่น มิตซูบิชิ มิตซุย และบริษัทที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น บริษัท Taisei และ JGC
ฌอน เทอร์เนลล์ นักเศรษฐศาสตร์พม่ากล่าวว่า ญี่ปุ่นกลายเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในพม่า ขณะที่จีนเผชิญกับความไม่พอใจจากชุมชนต่างๆ ที่วิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ
ญี่ปุ่นนั้นต่างไปจากชาติตะวันตก เนื่องจากญี่ปุ่นยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าและการหารือกับพม่าในช่วงการปกครองของเผด็จการทหารที่สิ้นสุดลงในปี 2554 โดยระบุว่า มาตรการที่แข็งกร้าวจะยิ่งผลักดันให้พม่าเข้าใกล้จีนมากขึ้น
ผู้นำญี่ปุ่นดำเนินตามผู้นำชาติอื่นๆ ที่ต่างเดินทางเยือนพม่า นับตั้งแต่พม่าได้รับการต้อนรับกลับสู่ประชาคมโลก หลังจากรัฐบาลพลเรือนของ เต็งเส่ง เข้าบริหารประเทศเมื่อ 2 ปีก่อน.