.
พนมเปญ 6 ก.พ.2556 (เอเอฟพี) - กษัตริย์นโรดมสีหนุทรงอิงอยู่กับการเมืองในกัมพูชา โดยผ่านหลายทศวรรษอันอึกทึกสับสนอลหม่าน และผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เมื่อครั้งที่ “พระราชบิดา” ทรงสละราชสมบัตินั้นมิใช่เพื่อองค์รัชทายาท หากเพื่อฮุนเซน นายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง
นับตั้งแต่เสด็จสวรรคตในกรุงปักกิ่งเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว กัมพูชาได้สักการบูชาบุรุษที่เคยเป็นทั้งกษัตริย์ นายกรัฐมนตรี ประมุขแห่งรัฐ และกลับมาครองราชย์อีกครั้ง ก่อนจะทรงก้าวลงจากพระราชอำนาจเพื่อให้พระราชโอกาสคือกษัตริย์สีหมุนีขึ้นครองราชบัลลังก์สืบแทนในปี 2547
พระราชพิธีเวลา 1 สัปดาห์เต็มๆ ที่กำลังจะสิ้นสุดลงในวันพฤหัสบดีนี้ ได้ทำให้ผู้ที่อาลัยรักกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าลงสู่ท้องถนนกรุงพนมเปญ เพื่ออำลาพระวงศ์ที่ทุกคนเคารพรักซึ่งพระศพอาบน้ำยาตั้งเอาไว้นาน 3 เดือน
พระองค์ทรงเป็นผู้ดำเนินการทางการเมืองที่ทรงหลักแหลม ทรงมีความโดดเด่นเป็นเวลานานกว่าครึ่งศตวรรษ ผ่านเหตุการณ์สำคัญๆ มากมาย ตั้งแต่ได้เอกราชจากฝรั่งเศส สงครามกลางเมือง ระบบทำลายล้างของเขมรแดง การลี้ภัยโดยพระองค์เอง และเข้าสู่ยุคแห่งสันติภาพในที่สุด
แต่พระองค์ทรงทิ้งสถาบันที่มีความอ่อนแอทางการเมืองเอาไว้ข้างหลัง
เมื่อกษัตริย์สีหนุทรงกลับขึ้นครองราชย์อีกครั้งหนึ่งในปี 2536 นักวิเคราะห์กล่าวว่า เรื่องนี้มีขึ้นหลังจากทรงบรรลุข้อตกลงกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนายทหารในระบอบเขมรแดงแล้วเท่านั้น โดยทรงยินยอมให้ฮุนซนสามารถใช้อำนาจทางการเมืองได้อย่างเต็มที่
“คู่ขวัญที่ประหลาดคู่นี้เป็นการจัดฉากทางการเมือง” ศาสตราจารย์อือเก แตร์เตร (Hugues Tertrais) ผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแพนทีออน-ซอร์กบอน (Pantheon-Sorbonne University) ในกรุงปารีสกล่าว
“ถึงแม้กษัตริย์นโรดมสีหนุจะทรงสละราชบัลลังก์เพื่อกษัตริย์สีหมุนี แต่สูตรก็ยังเป็นสูตรเดิม แม้ว่ากษัตริย์สีหมุนีจะทรงไร้พระเสน่หา เช่นที่พระราชบิดาทรงมีก็ตาม”
การตัดสินใจส่งผ่านมงกุฎสู่กษัตริย์สีหมุนีซึ่งปัจจุบันทรงมีพระชนมายุ 59 พรรษา แทนที่จะทรงมอบแด่พระราชบุตรพระองค์ใหญ่ คือ กรมพระนโรดมรณฤทธิ์นั้น นักการทูตมองว่า เป็นความพยายามหนึ่งในการหาหลักประกันสำหรับความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ ถึงแม้ว่าจะเป็นสถาบันที่เหลืออำนาจทางการเมืองเพียงน้อยนิดก็ตาม
กษัตริย์สีหมุนีที่ทรงถูกมองว่าตัดขาดจากการเมืองของประเทศ ทรงฝักใฝ่จะเป็นนักเต้นรำสมัครเล่น และครั้งหนึ่งทรงเคยเป็นเอกอัครราชทูตกัมพูชา ประจำองค์การยูเนสโก ในกรุงปารีส ทรงตัดสินพระทัยกลับคืนสู่กรุงพนมเปญ อันเป็นการกระทำที่ถูกมองอย่างกว้างขวางว่า ด้วยความกระอักกระอ่วนใจ
“ตัวเลือกของกษัตริย์สีหนุได้รับการสนับสนุนจากฮุนเซน อาจเป็นเพราะว่ากษัตริย์สีหมุนีนั้น ไม่สนพระทัยในการเมือง และเชื่อกันว่าทรงมีความยืดหยุ่นมาก” นักการทูตอเมริกันผู้หนึ่ง เรื่องนี้ระบุเอาไว้ในบันทึกในเดือน ต.ค.2547 ที่เว็บไซต์วิกิลีคส์ (WikiLeaks) นำออกเผยแพร่ในเวลาต่อมา
“นับตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์อีกครั้งในปี 2536 กษัตริย์สีหนุทรงเห็นพระราชอำนาจถูกบั่นทอนลงเป็นอย่างมากโดยนักการเมืองที่ทรงพลังอำนาจ กับระบบการเมืองที่เปิดมากขึ้น” บันทึกชิ้นเดียวกันระบุ
.
.
.
นับแต่นั้นมา กษัตริย์สีหมุนีทรงอยู่กับบทบาทประมุขแห่งรัฐอันเป็นเพียงสัญลักษณ์ตลอดมา โดยทรงเคารพในข้อตกลงระหว่างพระราชบิดากับฮุนเซนผู้นำที่มีอำนาจบาตรใหญ่ ผู้ซึ่งประกาศจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปจนอายุ 90 หรือตลอด 3 ทศวรรษข้างหน้า
“กษัตริย์สีหมุนีแทบจะไม่มีอิสรเสรีใดๆ ในการเคลื่อนไหวแต่ละเรื่อง” เดวิด แชนด์เลอร์ (David Chandler) ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกัมพูชาแห่งมหาวิทยาลัยโมนาช (Monash University) ในออสเตรเลียกล่าว
ฮุนเซนได้กุมอำนาจในกัมพูชาอย่างเต็มไม้เต็มมือกว่าครั้งใดๆ ถึงแม้จะมีเสียงกล่าวหารุนแรงว่า ระบอบที่เต็มไปด้วยคอร์รัปชันติดสินบาทคาดสินบนของเขา จะต้องรับผิดชอบต่อการบุกยึดแย่งชิงเอาที่ดินของราษฎรที่ดำเนินไปอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน รวมทั้งการปราบปรามฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองก็ตาม
เมื่อนายบารัค โอบามา ไปเยือนในเดือน พ.ย. ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้พบหารือที่เจ้าตัวกล่าวว่า “อย่างเคร่งเครียด” กับผู้ทรงอำนาจแห่งกัมพูชา อธิบายให้ทราบว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นเป็น “สิ่งกีดกวาง” ในความสัมพันธ์สองฝ่าย
“ตอนนี้ฮุนเซนมีอำนาจมากกว่าครั้งไหนๆ” นายอูวิรัก (Ou Virak) ประธานศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนกัมพูชา (Cambodian Centre for Human Rights-- CCHR) กล่าว
ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party - PPC) ของฮุนเซน ได้ครองเสียข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร 90 จากทั้งหมด 123 ที่นั่ง และ แทบจะไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาจะชนะการเลือกตั้งอีกในเดือน ก.ค.ปีนี้
ความทะเยอทะยานของฮุนเซนได้สะท้อนสิ่งเดียวกันของกษัตริย์สีหนุที่ทรงอยู่กับการเมืองหรืออยู่ใกล้ๆ กับมันมาเป็นเวลา 6 ทศวรรษ ตั้งแต่ได้รับเอกราช สู่ยุคแห่งสันติ ยุคทองแห่งทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ผ่านยุคแห่งสงครามกลางเมือง และมีผู้เสียชีวิตราว 2 ล้านคน ภายใต้ยุคเขมรแดง
“ฮุนเซนสามารถเป็นแบบเดียวกับกษัตริย์สีหนุโดยไม่ต้องมียศถาบรรดาศักดิ์ใดๆ เขาชนะในห้วงเวลาต่างๆ และในการเปลี่ยนแปลงทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา” ศ.แตร์เตรกล่าว
“กษัตริย์สีหนุทรงอยู่ในอำนาจ หรือสนใจที่อยู่ในอำนาจเป็นเวลา 60 ปี... นี่อาจจะเป็นโมเดลหนึ่งสำหรับฮุนเซนผู้ซึ่งเป็นรัฐมนตรีตั้งแต่อายุ 27 และตอนนี้อายุ 60 เขายังมีเวลาอีกยาวนานข้างหน้า” ศ.แตร์เตรกล่าว.
[แปลจากบทเขียนชื่อ Cambodia's king is dead, long live the PM โดย ดิดิเย ลอราส (Didier Lauras) สำนักข่าว AFP]