xs
xsm
sm
md
lg

“ซูจี” ออกเดินทางเยือนสหรัฐฯ ครั้งประวัติศาสตร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>นางอองซานซูจี (กลาง) ถือช่อดอกไม้ขณะเดินอยู่ภายในสนามบินนานาชาตินครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 16 ก.ย. นางซูจีออกเดินทางเยือนสหรัฐฯ เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ทศวรรษ. -- AFP PHOTO/Ye Aung Thu. </font></b>

เอเอฟพี - นางอองซานซูจี เดินทางออกจากพม่าเมื่อค่ำวานนี้ (16 ก.ย.) ในการเยือนสหรัฐฯ ครั้งประวัติศาสตร์ ที่นางซูจีจะได้รับการต้อนรับจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ และอาจถูกซักถามเกี่ยวกับความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศ

เจ้าของรางวัลโนเบลที่ได้รับเลือกเข้าสู่สภาในปีนี้ เดินทางออกจากนครย่างกุ้ง พร้อมกับนายเดเร็ค มิตเชลล์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำพม่า ตามการรายงานของผู้สื่อข่าวเอเอฟพี

การเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของนางซูจีครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่นางเริ่มต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในปี 2531 โดยนางจะเดินทางเยือนกรุงวอชิงตัน เพื่อเข้าพบกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ ผู้นำรัฐบาลที่เป็นแนวหน้าของบรรดาชาติตะวันตกที่กลับมาให้การสนับสนุนพม่าที่เคยปกครองโดยทหารมาเป็นเวลานานอีกครั้งหนึ่ง

นางซูจี ยังมีหมายที่จะเข้ารับรางวัลเหรียญทองของรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา (Congressional Gold Medal) โดยเหรียญรางวัลนี้ ถือเป็นเกียรติสูงสุดจากรัฐสภาสหรัฐฯ และพบหารือกับกลุ่มชาวพม่าพลัดถิ่นทั้งที่อยู่ในนิวยอร์ จนถึงซานฟรานซิสโก

ในระหว่างการเยือนสหรัฐฯ นาน 3 สัปดาห์ นางซูจีอาจมีโอกาสที่จะถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการปฏิรูปที่เกิดขึ้นในพม่าบนเวทีระดับโลก หลังพม่าอยู่ภายใต้ระบอบทหารนานหลายทศวรรษ

“ผมคิดว่าอย่างน้อย ดอว์ซูอาจมีโอกาสที่จะได้พูดถึงสถานการณ์การปฏิรูปในพม่า” นายเนียน วิน โฆษกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของนางซูจี กล่าว และว่า นางซูจีเดินทางไปพร้อมกับคณะอีกเพียงแค่ 3 คน และคาดว่าจะเดินทางถึงกรุงวอชิงตันในวันนี้ (17)

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การเยือนของนางซูจีครั้งนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาการเมืองได้เช่นกัน เนื่องจากการพักอยู่ในสหรัฐฯ ของนางซูจี มีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ประธานาธิบดีเต็งเส่งเยือนสหรัฐฯ เพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในเดือนนี้

“มีความเสี่ยงที่นางซูจีจะบดบังความสำคัญของการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ครั้งแรกของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติสำหรับสิ่งที่เต็งเส่งสมควรได้ในการดำเนินการปฏิรูปอันน่าทึ่งของเขา” ริชาร์ด ฮอร์เซส์ นักวิเคราะห์อิสระ กล่าวและว่า เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ หากประธานาธิบดีสหรัฐฯ เลือกที่จะพบกับผู้เรียกร้องประชาธิปไตยของพม่า ไม่ใช่ผู้นำพม่า

อย่างไรก็ตาม นางซูจีอาจต้องพบกับคำถามที่อาจสร้างความลำบากใจเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาไร้รัฐ หลังจากเกิดเหตุรุนแรงหลายระลอกในภาคตะวันตกของพม่า แต่ซูจียังคงระมัดระวังที่จะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ที่ชาวพม่าจำนวนมากมองโรฮิงญาว่า เป็นชาวต่างชาติ และไม่มีสิทธิที่จะเป็นพลเมืองของพม่า และเมื่อสัปดาห์ก่อน สถานทูตสหรัฐฯ ในนครย่างกุ้ง แสดงความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในรัฐยะไข่.
กำลังโหลดความคิดเห็น