.
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ที่หมู่บ้านกงแซ (Con Se) อ.กว๋างจัก (Quang Trach) จ.กว๋างบี่ง (Quang Binh) ชาวบ้านที่นั่นทำสถิติใหม่ให้แก่ประเทศ ได้ชื่อเป็นหมู่บ้านลูกดกที่สุด ครอบครัวละ 8-10 คนขึ้นไป เนื่องจากทั้งหมู่บ้านประกอบอาชีพประมง และต้องการแรงงานจำนวนมากในการทำมาหากิน
ไม่เพียงแต่ลูกชายเท่านั้นจะเป็นที่ปรารถนา แม้แต่ลูกสาวก็มีคุณค่า เนื่องจากทำให้ครอบครัวมีแรงงานชายไปช่วยงานมากขึ้น สำนักข่าวเวียดนามเอ็กซ์เพรสรายงาน
การเป็นหมู่บ้านติดชายทะเล และทุกครอบครัวประกอบอาชีพประมงต้องออกจับปลา จึงจะต้องมี “กะลาสี” อย่างเพียงพอ สำนักข่าวออนไลน์ภาษาเวียดนามกล่าว
ครอบครัวของนายเหวียนโด๋ (Nguyen Do) ทำสถิติสูงสุด มีลูกทั้งหมด 14 คน บุตรชายคนโตอายุ 36 แล้ว ขณะที่น้องสาวคนเล็กของเขาเพิ่งจะ 10 ขวบ ถึงแม้ว่าลูกชาย 3 คนจะแยกออกไปหลังแต่งงาน บ้านของนายโด๋พื้นที่ราว 30 ตารางเมตรก็เป็นที่อาศัยของคน 17 ชีวิต แต่นายโด๋กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นไปตามธรรมชาติ
“ผมมีลูกชายทั้งหมด 8 คน บวกกับลูกเขยอีก 4 มากพอที่จะตั้งเป็นทีมกะลาสีออกเรือเอง ไม่ต้องไปจ้างใครที่ไหนอีก” หัวหน้าครอบครัวใหญ่วัย 55 ปีกล่าว
แต่นางหว่างถิเฮือง (Hoang Thi Huong) ภรรยาของนายโด๋ ไม่ค่อยจะปลื้มกับครอบครัวใหญ่นี้เท่าไร นางกล่าวกับผู้สื่อข่าวพร้อมกับถอนหายใจเฮือกใหญ่ว่า “ในแต่ละวันฉันแทบไม่มีเวลาได้หายใจ ต้องไปจ่ายตลาดซื้อหาอาหารมาทำกับข้าวเลี้ยงทุกคน นี่ไม่ต้องพูดถึงว่าจะต้องหาเงินหาทองอย่างไรมาจุนเจือครอบครัวเรา”
ตัวอย่างแบบครอบครัวของนายโด๋น่าจะเป็นอดีตไปตั้งนานแล้วในเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลคอมมิวนิสต์มีนโยบายให้แต่ละครัวเรือนมีบุตรเพียง 2 คน และมีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้ หากมีลูกเกิน 2 คนจะถูกตัดสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการสังคม
แต่ที่หมู่บ้านกงแซ ไม่ได้ยี่หระต่อนโยบายของรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์ ในปัจจุบัน ชายอายุ 30 ปี ส่วนใหญ่จะมีลูก 4-5 คนแล้วทั้งนั้น เช่น นางฝั่มถิญี (Pham Thi Nhi) อายุ 37 ปี ตอนนี้มีลูก 10 คน ลูกสาวคนโตอายุ 19 และกำลังจะแต่งงาน แต่คนเล็กสุดเพิ่งจะ 5 เดือน
.
.
การมีลูกมากอาจจะได้ประโยชน์ด้านแรงงาน แต่นายเหวียนเกื่อง (Nguyen Cuong) ผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่า ปัญหาที่ตามมาก็คือ คนล้น ทั้งหมู่บ้านมีเนื้อที่เพียง 6 เฮกตาร์ (ราว 37.5 ไร่) ทุกครอบครัวอยู่กันแออัด ไม่มีที่เพาะปลูก ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาด้านการศึกษา และการกินอยู่ ที่นับวันจะขาดแคลน
หมู่บ้านมีประชากรกว่า 650 ครอบครัว รวม 3,000 คนเศษ แม้จะอยู่ในชนบท แต่บ้านเรือนของแต่ละครอบครัวคับแคบกว่าอยู่ในเมืองใหญ่ กว่า 200 ครอบครัวต้องเสี่ยงสร้างบ้านเรือนล้ำเข้าไปในลำน้ำที่ไหลผ่านท้องถิ่นนี้ ผู้ใหญ่บ้านกล่าว
ในหมู่บ้านมีเด็กๆ อายุ 5 ปีลงมาจำนวนกว่า 500 คน ในขณะที่ปัจจุบัน เด็กๆ ในวัยเรียนจากหมู่บ้านนี้คิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของนักเรียนในโรงเรียนประถมศึกษาประจำคอมมูน ศูนย์รวมของนักเรียนจาก 7 หมู่บ้าน ซึ่งปกติรับนักเรียนได้เพียง 412 คนเท่านั้น นี่ยังไม่ต้องพูดถึงนักเรียนระดับมัธยมศึกษา
เจ้าหน้าที่ประจำคอมมูนกล่าวว่า เด็กที่หมู่บ้านกงแซจะออกจากโรงเรียนตอนอายุ 12 ปี เมื่อจบชั้นประถมศึกษา พออายุ 14-15 ก็จะออกเรือหาปลากับพ่อ และพี่ๆ ทั้งหลาย ในขณะที่ลูกสาวจะอยู่กับบ้านถัก หรือปะซ่อมอวนลากกับตาข่ายดักปลา แล้วก็รอแต่งงาน
บางครอบครัวจะพาลูกชายออกทะเลตั้งแต่อายุ 12 อีกหลายครอบครัวให้ลูกออกจากโรงเรียนเมื่อจบชั้นประถมศึกษาตอนต้น ตอนอายุเพียง 8 ขวบ
แต่ทำงานในเรือหาปลาใช่จะมีรายได้มากมาย คิดเป็นเงินเดือนก็ประมาณเดือนละล้านด่งเศษๆ หรือราว 15 ล้านด่ง (750 ดอลลาร์) ต่อปี
แต่เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การเกลี้ยกล่อมให้ชาวบ้านเปลี่ยนใจเปลี่ยนวิธีคิดนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะคนเหล่านี้เชื่อว่า การมีลูกมากเป็นหนทางในการสร้างความร่ำรวยในอนาคต เวียดนามเอ็กซ์เพรสกล่าว.