เอเอฟพี - ทางการพม่ามีคำสั่งให้นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน หยุดใช้คำว่า “Burma” ในการกล่าวถึงประเทศ ที่เป็นชื่อในยุคอาณานิคมที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย และถูกนำมาใช้เพื่อต่อต้านอดีตรัฐบาลเผด็จการทหาร สื่อทางการพม่ารายงานวันนี้ (29 มิ.ย.)
อดีตรัฐบาลเผด็จการทหาร ได้เปลี่ยนชื่อประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อ 2 ทศวรรษก่อน จาก Burma มาเป็นคำว่า Myanmar เนื่องจากคำว่า Burma นั้น เป็นมรดกตกทอดจากช่วงที่อังกฤษเข้าครอบครองพม่าในยุคล่าอาณานิคม และเป็นชื่อที่ใช้เพื่ออ้างอิงถึงดินแดนของชนหลายเชื้อชาติ แต่เป็นของชาวเบอร์มาซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่
นางซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) คัดค้านอย่างหนักต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และวิจารณ์ว่า เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของบรรดาเหล่านายทหารในการสร้างประเทศใหม่
การใช้คำว่า Burma ของนางอองซานซูจีระหว่างเดินทางเยือนไทย และยุโรปนั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งกล่าวหานางอองซานซูจี และสมาชิกพรรค NLD ดูหมิ่นรัฐธรรมนูญที่พวกเขากล่าวคำสาบานที่จะรักษา
หนังสือพิมพ์นิวไลท์ ออฟ เมียนมาร์รายงานอ้างแถลงฉบับหนึ่งที่ระบุว่า ตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ รัฐจะต้องเป็นที่รู้จักในชื่อ “สาธารณรัฐสหภาพเมียนมาร์" ไม่มีผู้ใดมีสิทธิที่จะเรียกว่า “เบอร์มา”
“ดอว์อองซานซูจีกล่าวถึงพม่าด้วยคำว่า เบอร์มา ในสุนทรพจน์ที่การประชุม เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ที่ไทยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. และอีกครั้งที่ดอว์อองซานซูจีเรียกประเทศด้วยคำว่า เบอร์มา ในสุนทรพจน์ระหว่างการตระเวนเยือนยุโรป” รายงาน ระบุ
ผู้นำระดับโลกหลายคนต้องเผชิญกับสถานการณ์ยากลำบากในการเรียกชื่อประเทศที่เพิ่งก้าวพ้นจากการปกครองโดยทหารที่ยาวนานหลายทศวรรษ ด้วยการนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง เช่น นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ และประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ เรียกพม่าด้วยคำว่า เบอร์มา แต่นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กลับเลือกใช้คำว่า “ประเทศนี้” เพื่อเลี่ยงความขัดแย้งระหว่างเดินทางเยือนพม่าเมื่อเดือน ธ.ค.