xs
xsm
sm
md
lg

อียูจะผ่อนคลายคว่ำบาตรพม่าเพิ่มเติม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางแคทเธอรีน แอชตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (ซ้าย) และนางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ถ่ายภาพร่วมกันในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่มประเทศ G8 ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 11 เม.ย. นางแอชตันระบุว่า สหภาพยุโรปพร้อมจะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าเพิ่มเติมในการประชุมที่จะมีขึ้นที่ลักเซมเบิร์กในวันที่ 23 เม.ย. และมีกำหนดการที่จะเดินทางเยือนพม่าในระหว่างวันที่ 28-30 เม.ย.นี้. -- Mark Wilson/Getty Images/AFP.

เอเอฟพี - สหภาพยุโรปจะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อพม่าเพิ่มเติม หลังพม่ามีความคืบหน้าในการปฏิรูปประชาธิปไตย นางแคทเธอรีน แอชตัน หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรปกล่าววานนี้ (17 เม.ย.)

“ในเดือนมกราคม เราระงับคำสั่งห้ามออกวีซ่าเดินทางต่อรัฐบาลพม่า และในสิ้นเดือนนี้ เราจะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม” นางแอชตัน กล่าวต่อรัฐสภายุโรป และการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรจะมีขึ้นในระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปที่ลักเซมเบิร์ก ในวันที่ 23 เม.ย. นี้

สหภาพยุโรปคาดหวังที่จะอนุมัติการลงทุน และนำเข้าสินค้าอ่อนไหว แต่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรการค้าขายอาวุธยังไม่รวมอยู่ในวาระการพิจารณาแต่อย่างใด และนางแอชตันกล่าวว่า เธอจะเดินทางเยือนพม่าระหว่างวันที่ 28-30 เม.ย. นี้

“เราจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป และสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับพม่า” นางแอชตันกล่าว และเพิ่มเติมว่า เธอจะเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศพม่ามายังกรุงบรัสเซลส์

“ฉันหวังว่าสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้เป็นโอกาสสำหรับพม่าที่จะก้าวไปข้างหน้า และเราจะเข้าไปสู่ความร่วมมือกับพม่าเพื่อช่วยเหลือในกระบวนการปฏิรูปและพัฒนาเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม” นางแอชตัน กล่าว

ความคาดหวังที่จะมีการผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมมีขึ้นหลังนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ และนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้านของพม่า แถลงร่วมเรียกร้องให้มีการระงับการคว่ำบาตรต่อพม่า

ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้สังเกตการณ์ด้วยการปฏิรูปประเทศหลายประการ นับตั้งแต่ขึ้นบริหารประเทศในปีก่อน เช่น การยินยอมให้นางอองซานซูจี และพรรค NLD กลับเข้าสู่การเมืองกระแสหลัก และปล่อยตัวนักโทษการเมืองหลายร้อยคน

อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกบางส่วนยังมีอยู่เช่นเดิม เนื่องจากประชาคมโลกต้องการถ่วงดุลให้การเปลี่ยนแปลงในพม่าเป็นไปอย่างยั่งยืน และปรารถนาที่จะสนับสนุนผู้ปฏิรูประบอบการปกครองที่อาจเผชิญแรงกดดันจากผู้ที่ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ ชาติในสหภาพยุโรปทั้ง 27 ประเทศ ได้ยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทางต่อเจ้าหน้าที่พม่า 87 คน ที่รวมทั้งประธานาธิบดีเต็งเส่ง เมื่อเดือน ก.พ. แต่ยังคงมาตรการอายัดทรัพย์สินอยู่ต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น