xs
xsm
sm
md
lg

ยูเอ็นห่วงสถานการณ์ผู้พิพากษาศาลเขมรแดงลาออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033> นักศึกษาชาวกัมพูชายืนอ่านข้อมูลบนกระดานข่าวของศาลพิเศษเขมรแดง (ECCC) ในกรุงพนมเปญ วันที่ 20 มี.ค. สถานการณ์การลาออกของผู้พิพากษาชาวต่างชาติติดต่อกัน 2 คน ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน สร้างความกังวลใจให้กับสหประชาชาติที่ให้การสนับสนุนศาลแห่งนี้ ขณะที่องค์กรนิรโทษกรรมสากลต้องการให้รัฐบาลกัมพูชาหยุดการแทรกแซงการทำหน้าที่ของศาล. --AFP PHOTO/Tang Chhin Sothy.  </font></b>

เอเอฟพี - สหประชาชาติแสดงความกังวลอย่างจริงจังหลังผู้พิพากษารายที่ 2 ลาออกจากศาลอาชญากรรมสงครามของกัมพูชา ท่ามกลางความแตกแยกว่าจะติดตามดำเนินคดีกับอดีตสมาชิกเขมรแดงเพิ่มอีกหรือไม่

นายโลร็องต์ กาส์เป-อองแซร์เมต์ ผู้พิพากษาสืบสวนร่วมชาวสวิส ตัดสินใจลาออกจากหน้าที่วานนี้ (19 มี.ค.) ด้วยเหตุผลที่ว่า ความพยายามของเขาที่จะสืบสวนคดีความที่ 3 และ 4 ถูกขัดขวางอย่างต่อเนื่องจากผู้พิพากษาร่วมชาวกัมพูชา

"สถานการณ์ที่ศาลยังคงสร้างความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่องและสหประชาชาติกำลังเข้าตรวจสอบอย่างใกล้ชิด" โฆษกของนายบัน คี-มุน เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความเห็นผ่านอีเมล์วานนี้

การลาออกของนายกาส์เป-อองแซร์เมต์ มีขึ้นหลังนายซิกฟรีด บลังค์ ผู้พิพากษาชาวเยอรมัน ลาออกจากศาลในเดือนต.ค. 2554 โดยอ้างว่ารัฐบาลกัมพูชาแทรกแซงคดี

สหประชาชาติแต่งตั้งให้นายกาส์เป-อองแซร์เมต์ เข้าทำหน้าที่แทนผู้พิพากษาคนก่อน แต่ฝ่ายกัมพูชาปฏิเสธที่จะยอมรับการแต่งตั้งดังกล่าว ทำให้ผู้พิพากษาชาวสวิสรายนี้ต้องทำงานโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ร่วมงานชาวกัมพูชา

สหประชาชาติยังไม่ได้ระบุว่าผู้พิพากษาคนใดจะทำหน้าที่แทนนายกาส์เป-อองแซร์เมต์ ที่การลาออกจะมีผลตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. แต่ผู้สังเกตการณ์เชื่อว่าผู้พิพากษาที่จะเข้าทำหน้าที่แทนในอนาคตนั้นอาจเผชิญกับความยากลำบากเช่นเดียวกัน

"สหประชาชาติจะต้องเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาหยุดการกระทำที่เป็นการแทรกแซงทางการเมือง และชี้แจงให้ชัดเจนว่าผลสืบเนื่องจากการดำเนินคดีจะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ" นายรูเพิร์ต แอ็บบอตต์ นักวิจัยจากองค์กรนิรโทษกรรมสากล กล่าว

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ของกัมพูชา แสดงท่าทีคัดค้านการขยายผลสืบสวนผู้ต้องสงสัยสมัยเขมรแดงเพิ่มเติมในการพิจารณาคดีที่ 2 ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน

ศาลพิเศษเขมรแดงตั้งขึ้นเพื่อหาความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 ล้านคนในยุคเขมรแดงครองอำนาจช่วงปลายทศวรรษ 1970 และนับตั้งแต่ก่อตั้งศาล เพิ่งพิจารณาตัดสินคดีเสร็จสิ้นไปเพียงคดีเดียว โดยตัดสินให้อดีตผู้บัญชาการเรือนจำจำคุกตลอดชีวิต ขณะที่การพิจารณาคดีกับแกนนำเขมรแดงที่ยังมีชีวิตอยู่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ.
กำลังโหลดความคิดเห็น