เอเอฟพี - นักเคลื่อนไหวและฝ่ายค้านของพม่าแสดงความผิดหวัง วานนี้ (3 ม.ค.) หลังจากทางการพม่ามีคำสั่งลดโทษจำคุกให้กับนักโทษ แต่คำสั่งที่มีขึ้นนี้ยังคงห่างไกลจากความหวังที่จะให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง
ผู้คนราว 300 คน รวมตัวกันอยู่ด้านนอกเรือนจำอินเส่งในนครย่างกุ้งวานนี้ ขณะที่นักโทษที่รวมทั้งผู้หญิงอุ้มเด็กเดินออกจากคุกหลังได้รับการลดโทษ แต่การประกาศลดโทษของทางการพม่าครั้งนี้ไม่ระบุถึงชะตากรรมของนักโทษการเมือง ซึ่งสร้างความผิดหวังต่อความหวังที่จะเห็นรัฐบาลพม่าปล่อยนักโทษการเมืองมากขึ้นอันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปในช่วงที่ผ่านมา
นายเนียน วิน โฆษกของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กล่าวว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสมาชิกของพรรคที่ถูกจำคุกจะได้รับการปล่อยตัวในครั้งนี้หรือไม่
“เราหวังให้มีการนิรโทษกรรมอย่างแท้จริง” นายเนียน วิน กล่าว
นักโทษการเมืองในพม่าที่รวมทั้งอดีตผู้ประท้วงที่เป็นนักศึกษา พระสงฆ์ ผู้สื่อข่าว และทนายความ และชะตากรรมของพวกเขา ยังเป็นประเด็นกังวลหลักของประชาคมนานาชาติ
ภายใต้คำสั่งลดโทษระบุว่าผู้ที่ได้รับโทษประหารจะได้รับการลดหย่อนโทษลงเป็นจำคุกตลอดชีวิต และผู้ที่ได้รับโทษจำคุกมากกว่า 30 ปีขึ้นไป จะได้รับการลดหย่อนโทษเหลือจำคุก 30 ปี และผู้ที่ได้รับโทษจำคุกนานระหว่าง 20-30 ปี จะลดหย่อนโทษลงเหลือจำคุกนาน 20 ปี และโทษจำคุกระยะสั้นจะลดหย่อนโทษลง 1 ใน 4
สำหรับผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐคนสำคัญ เช่น ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จลาจลปี 1988 ต้องโทษจำคุกนานหลายทศวรรษและมีความหวังเลือนรางที่จะได้รับอิสรภาพ จากคำสั่งที่มีขึ้นในวาระครบรอบวันชาติพม่าที่ตรงกับวันนี้ (4 ม.ค.)
เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพม่านายหนึ่ง กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดว่าจำนวนนักโทษที่จะได้รับการปล่อยตัวมีทั้งหมดเท่าใด แต่นักโทษที่อยู่ในเรือนจำในนครย่างกุ้ง เป็นชายประมาณ 800 คน และหญิง 130 คน ที่ได้รับการปล่อยตัว
นายพอ นิน เต็ง ทนายความและญาติของ นายไต เกว แกนนำนักศึกษาที่ถูกจำคุก กล่าวว่า การประกาศลดโทษนี้มุ่งเน้นไปที่อาชญากรธรรมดา และว่าหากมีการนิรโทษกรรมเช่นนี้อีกจะไม่ช่วยประเทศให้ดีขึ้น
นายอ่อง ก่าย มิน จากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) สำนักงานในไทย กล่าวว่า การปล่อยตัวไม่สอดคล้องกับแถลงจากเจ้าหน้าที่บางคนที่กล่าวก่อนหน้านี้ ว่า จะมีนักโทษทางความคิดได้รับการปล่อยตัวมากขึ้น
“นี่ไม่ใช่การนิรโทษกรรม นับเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังมาก” นายอ่อง ก่าย มิน กล่าว
รัฐบาลพลเรือนพม่าขึ้นมาบริหารประเทศเมื่อเดือน มี.ค.2554 ได้สร้างความหวังในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาด้วยการเข้าถึงฝ่ายตรงข้ามกับรัฐและชาติตะวันตก และนักโทษการเมืองประมาณ 200 คน ได้รับการปล่อยตัวในเดือน ต.ค.แต่นักเคลื่อนไหวประเมินว่ายังคงมีนักโทษทางความคิดประมาณ 500 คน หรือมากกว่า 1,500 คน ถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำของพม่า และผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐคนสำคัญหลายคนยังคงถูกควบคุมตัว เช่น พระสงฆ์ Gambira ต้องรับโทษจำคุกนาน 63 ปี จากเหตุการณ์ประท้วงในปี 2550 และ นายมิน โก เนียง อดีตแกนนำนักศึกษา ต้องรับโทษจำคุกนาน 65 ปี
สหรัฐฯ กล่าววานนี้ ว่า การตัดสินใจลดหย่อนโทษของพม่าครั้งนี้ยังห่างไกลจากสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯคาดหวัง โดย นางวิคตอเรีย นูแลนด์ โฆษกหญิงกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯยังคงกังวลเกี่ยวกับนักโทษการเมืองมากกว่าพันคนที่ยังคงถูกควบคุมตัวไว้
พม่าเพิ่งประกาศแผนที่จะจัดการเลือกตั้งซ่อมในวันที่ 1 เม.ย.ที่จะทำให้นางซูจีสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสภา แต่ นายอ่อง เต็ง ที่ปรึกษาด้านกฎหมายในการพิจารณาคดีผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐหลายคดี กล่าวว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นไม่มีความหมายอะไรเพราะนักโทษการเมืองยังคงถูกควบคุมตัว
“นักโทษทางความคิดจำเป็นต้องได้รับการปล่อยตัวในช่วงนี้ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองกำลังพัฒนา” นายอ่อง เต็ง กล่าว