วีโอเอ - หน่วยงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชน พบว่า บริษัทจัดหางานอย่างน้อยสองแห่ง ส่งแรงงานหญิงประมาณ 25 คน ไปต่างประเทศ วานนี้ (17 ต.ค.) ซึ่งเป็นการละเมิดคำสั่งห้ามบริษัทจัดหางานส่งแรงงานในประเทศไปมาเลเซีย ที่นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ของกัมพูชาเพิ่งลงนามเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
กลุ่มคุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้เรียกร้องกดดันรัฐบาลกัมพูชา มาเป็นเวลาหลายเดือนเกี่ยวกับเหตุล่วงละเมิดแม่บ้านชาวกัมพูชาที่ทำงานอยู่ในมาเลเซีย และเมื่อวันศุกร์ (14 ต.ค.) นายกรัฐมนตรี ฮุนเซน ได้ให้คำมั่นที่จะดำเนินการต่อเรื่องดังกล่าว และต่อมาในวันเสาร์ (15 ต.ค.) นายกฯฮุนเซน ได้ลงนามในคำสั่งห้ามบริษัทจัดหางานกัมพูชาส่งแรงงานในประเทศไปยังมาเลเซีย
นายเนลี พิลอร์ก ผู้อำนวยการกลุ่มคุ้มครองสิทธิมนุษยชน LICADHO กล่าวว่า บริษัทสองแห่งได้ส่งหญิงสาวอย่างน้อย 25 คน เดินทางไปมาเลเซียในเที่ยวบินเช้าวันจันทร์จากกรุงพนมเปญ
“ผมรู้สึกยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันศุกร์และเสาร์ แต่หลังจากผู้ร่วมงานของผมรายงาน ว่า มีผู้หญิงอย่างน้อย 25 คน เดินทางไปมาเลเซีย มันชัดเจนสำหรับผมว่าทางการ และบริษัทจัดหางานไม่สนใจคำสั่งห้ามดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าผมไม่พอใจ” นายพิลอร์ก กล่าว
เป็นเวลาหลายเดือนที่สมาชิกสภาฝ่ายค้านในกัมพูชาเน้นย้ำถึงประเด็นการล่วงละเมิดแรงงานชาวกัมพูชาในมาเลเซีย ซึ่ง นายพิลอร์ก เชื่อว่า รัฐบาลมีคำสั่งห้ามส่งออกแรงงานในตอนนี้เป็นเพราะทางการกังวลว่ารัฐบาลสหรัฐฯอาจลดระดับสถานะการค้ามนุษย์ของกัมพูชา ซึ่งจะส่งผลให้กัมพูชาเสี่ยงที่จะสูญเสียความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ
รายงานการลักลอบค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ปี 2554 ระบุว่า กัมพูชาไม่มีการปรับปรุงในการคุ้มครองเหยื่อค้ามนุษย์ และว่า คนหนุ่มสาวราว 300,000 คน เข้าสู่ตลาดงานของกัมพูชาในแต่ละปี แต่อัตราการจ้างงานในท้องถิ่นนั้นไม่เพียงพอ ทำให้แรงงานจำนวนหลายหมื่นคนต้องข้ามไปหางานในไทย และมาเลเซีย ทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย และหญิงชาวกัมพูชาอย่างน้อย 30,000 คน ถูกจ้างงานเป็นแรงงานในมาเลเซีย