เอเอฟพี - นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ระบุว่า เสียงร้องในยามเช้าที่มีชีวิตชีวาของชะนีสายพันธุ์หายากนำไปสู่การค้นพบชุมชนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมช่างพูดที่รู้เพียงว่ายังมีอยู่ในป่าลึกอันห่างไกลของเวียดนาม
องค์การอนุรักษ์ธรรมชาติสากล (Conservation International - CI) ระบุว่า ชะนีแก้มขาว (white-cheeked crested gibbon) ที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ราว 455 ตัว พบว่าอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงและห่างไกลจากแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์บริเวณพรมแดนติดกับลาว โดยก่อนหน้านี้ นักวิจัยได้พบกลุ่มชะนีสายพันธุ์ดังกล่าวบางส่วนอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ในบริเวณอุทยานแห่งชาติพูมัต ใน จ.เหงะอาน ทางเหนือของเวียดนาม
ชุมชนชะนีที่พบนี้เป็นเพียง 2 ใน 3 ของจำนวนชะนีทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในเวียดนาม และได้รับการยืนยันว่ามีอยู่จากทั่วโลก
“นี่เป็นการค้นพบที่สำคัญอย่างมาก และย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของพื้นที่คุ้มครองในการรองรับสัตว์ป่าที่อพยพมาจากพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายในภูมิภาค” นายรัสเซลล์ มิตเตอร์ไมเออร์ ประธาน CI กล่าว
ชะนีที่กำลังถูกคุกคามทั่วโลกในขณะนี้ ถูกระบุว่าเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีความโรแมนติกที่สุด เนื่องจากพวกมันจะอยู่กับคู่ไปตลอดชีวิตและส่งเสียงร้องขับกล่อมให้คู่ของมัน
ตามแถลงของ CI ระบุว่า การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและการล่าเพื่อการค้า และการอ้างว่าอวัยวะของชะนีมีสรรพคุณทางยา เป็นเหตุผลหลักที่สัตว์ป่าสายพันธุ์นี้ถูกคุกคามในเวียดนาม
บัญชีรายชื่อสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสหภาพระหว่างประเทศเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (The International Union for the Conservation of Nature and Natural Resources หรือ IUCN) ระบุว่า จำนวนชะนีแก้มขาวคาดว่าลดลงมากถึง 80% ในช่วง 45 ปีที่ผ่านมา และนายมิตเตอร์ไมเออร์ ที่ทำงานให้กับ IUCN อธิบายว่า สัตว์สายพันธุ์นี้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างมาก แต่เนื่องจากการขาดแคลนงานวิจัยทำให้สถานการณ์ของชะนีในประเทศนั้นยังไม่แน่ชัด
องค์การ CI ระบุว่า แผนที่จะสร้างถนนตัดผ่านพื้นที่ในอุทยานพูมัตเพื่อเพิ่มการตรวจตราในบริเวณพรมแดนเวียดนาม-ลาว ดูเหมือนจะเป็นการคุกคามอย่างร้ายแรงต่ออนาคตของสัตว์หายากสายพันธุ์นี้
“ประเด็นปัญหาสำคัญคือการล่าชะนี ดังนั้นการควบคุมการใช้ปืนจึงเป็นสิ่งสำคัญ” นายเลียว เตื่อง บั้ค นักวานรวิทยา ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษากับ CI และนำสำรวจภาคสนามในการวิจัย กล่าว และว่าการปราศจากการป้องกันโดยตรงในบริเวณอุทยานแห่งชาติพูมัต อาจส่งผลให้เวียดนามต้องสูญเสียสัตว์สายพันธุ์นี้ในอนาคตอันใกล้