xs
xsm
sm
md
lg

การท่องเที่ยวเชิงนิเวศในลาวเริ่มออกดอกผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<b><FONT color=#000033>ภาพถ่ายโดย สจวร์ต แม็คโดนัลด์ (Stuart McDonald) ในบล็อกแห่งหนึ่ง ทิวทัศน์ริมถนน A3a ระหว่างเมืองห้วยทรายกับเมืองน้ำทา สวยงามจับตาจับใจ ผืนป่าเขียวชะอุ่มกับสัตว์ป่านานาชนิดเป็นทรัพย์สินอันล้ำค่าของชาวลาว การพัฒนาท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เน้นให้ราษฎร์ในท้องถิ่นได้รับประโยชน์ เกิดการสร้างรายได้โดยตรง และให้คนเหล่านั้นพิทักษ์รักษาผืนป่าที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน.  </font>

เอเอฟพี - หมู่บ้านชาวเขาที่ตั้งอยู่ในผืนป่าทางภาคเหนือของลาว ชายสูงอายุนั่งอยู่กับพื้นสานตะกร้าขณะที่คนอื่นๆ กำลังตากผ้าให้แห้ง เหล่านี้เป็นภาพวิถีชีวิตประจำวันของชาวอาข่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่คุ้มครองป่าบ้านน้ำห่า (Nam Ha) ที่มีทั้งช้าง ชะนี เสือดาว อาศัยอยู่ท่ามกลางป่าไผ่ใกล้หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมฝั่งลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง

พื้นที่อุทยานแห่งชาติ กว้าง 1,320,000 ไร่ เป็นอุทยานลำดับต้นๆ ของลาวที่พยายามทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นปลายทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศชั้นนำ หลังใช้ความพยายามนานหลายปีซึ่งดูจะให้ผลลัพธ์ที่ดี

การท่องเที่ยวลาว ระบุว่า พื้นที่แห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยความงดงามตามธรรมชาติและวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยหลากหลายชนเผ่า และว่า ในปี 2553 มีนักท่องเที่ยวเกือบ 250,000 คน เดินทางเยือนแขวงหลวงน้ำทา ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ เพิ่มขึ้นจากปี 2542 ที่มีเพียง 20,000 คนเท่านั้น

“เทียบกับไทยแล้วที่นี่มีสภาพของความเป็นจริงมากกว่า และการที่เราเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ แค่ 4 คน ทำให้ได้รับประสบการณ์เฉพาะตัวและเข้าถึงอย่างแท้จริง” โจ พาร์ค อายุ 28 ปี นักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ กล่าว

“เราอาจทิ้งรอยเท้าไว้แต่จะไม่ทิ้งวัฒนธรรมที่มากับพวกเราไว้ที่นี่ ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่วิเศษมาก” พาร์คกล่าว ขณะเดินป่าอยู่ภายในอุทยาน

ขณะเดียวกัน ชาวเขาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ยังคงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีครามตามวัฒนธรรมดั้งเดิม พวกเขาไม่ต้องพยายามแต่งกายเพื่อนักท่องเที่ยวและยังคงใช้ชีวิตตามปกติเช่นเดิมแม้ในเวลาที่นักท่องเที่ยวเดินทางมา

รัฐบาลลาววางแผนมาเป็นเวลานานที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนประเทศมากขึ้นขณะที่ยังคงรักษามรดกทางวัฒนธรรมเอาไว้

นายสตีเวน ซีพานี ที่เคยเป็นที่ปรึกษาสหประชาชาติในโครงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน้ำห่ากล่าวว่า หลังจากเปิดให้นักท่องเที่ยวมาเยือนได้ในช่วงทศวรรษ 1990 ลาวมองว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบอาจเป็นโอกาสที่ดีที่จะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น

“แต่ลาวยังตระหนักว่าการท่องเที่ยว ถ้าหากไม่จัดการอย่างเหมาะสม สามารถสร้างผลกระทบทางลบได้อย่างมากมาย" นายซีพานีที่ในปัจจุบันรับผิดชอบโครงการการท่องเที่ยวในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใต้การดูแลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี กล่าวถึงเรื่องนี้

ทางการลาวกล่าวว่า ในลาวมีอุทยานแห่งชาติอยู่ 20 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ในประเทศ 14% และทางการพยายามจัดการการท่องเที่ยวที่ทะลักเข้ามาเพื่อหลีกเลี่ยงปรากฏการณ์แถวรถบัสยาวเหยียดหรือการก่อสร้างโรงแรมคอนกรีตจำนวนมาก

เว็บไซต์ท่องเที่ยว www.ecotourismlaos.com ประกาศว่า ลาวจะกลายเป็นปลายท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญในรูปแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมในท้องถิ่น และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมของลาวที่ไม่ซ้ำใครไปทั่วโลก

(โปรดเลื่อนลงเพื่ออ่านต่อ)
<br><FONT color=#000033>ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 12 มี.ค. เอมิลี โซเยอร์ (2 จากซ้าย) ยืนดูหญิงชาวเขาเผ่าขมุระหว่างเส้นทางเดินป่าที่เธอและเพื่อนๆ เดินผ่านในบริเวณอุทยานน้ำห่า แขวงหลวงน้ำทา บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวในท้องถิ่นของแขวงได้จัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงนิเวศเหล่านี้ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้สัมผัสกับธรรมชาติและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวเขาเผ่าต่างๆในลาว.--. AFP PHOTO/Hoang Dinh Nam. </font></b>
<br><FONT color=#000033>โจ พาร์ค (2 จากขวา) และแฟนสาว กำลังดูไกด์ชาวเขาเผ่าขมุเตรียมอาหารเที่ยงตามวิถีชีวิตของชาวเขา ในระหว่างการเดินป่านาน 4 ชั่วโมง ในอุทยานแห่งชาติน้ำห่า แขวงหลวงน้ำทา.--. AFP PHOTO/Hoang Dinh Nam. </font></b>
.
อุทยานแห่งชาติน้ำห่า เป็นรูปแบบการพัฒนาสำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาประโยชน์ให้กับชุมชนท้องถิ่น

“ก่อนหน้านี้ มีเพียงพวกแบ็กแพ็คเกอร์ที่มักจะเช่ามอเตอร์ไซค์ขับไปรอบๆ ไม่ได้หยุดตามหมู่บ้านเพื่อมาที่เมืองน้ำทา” นายเอเดรียน ชูห์เบค ผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาของหน่วยงานจากเยอรมนี ในแขวงหลวงน้ำทา กล่าว

“แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไป ผู้คนมีเงินใช้จ่ายเดินทางมาที่นี่ซึ่งดีกับชุมชม และพวกเขาก็ได้รับสิ่งต่างๆ กลับไปมากเช่นกัน”

ในโครงการน้ำห่า หลายสิบหมู่บ้านได้เซ็นข้อตกลงกับหน่วยงานที่จัดการการเดินป่า ซึ่งจะจัดหามัคคุเทศน์ เส้นทาง อาหารพื้นเมือง รวมถึงที่พัก ในช่วงเวลาแค่ 2 ครั้งต่อสัปดาห์

นายจิตตะพง จันทะคูน ซึ่งทำงานในบริษัทจัดทัวร์ในพื้นที่ ระบุว่าสำหรับนักท่องเที่ยว 1 กลุ่ม ที่จำกัดไว้มากที่สุดแค่ 8 คน จะใช้เวลาท่องเที่ยวเดินป่านาน 2 วัน และหมู่บ้านจะได้รับเงินประมาณ 135 ดอลลาร์ หรือจำนวนเงินที่มากกว่า 1 ใน 3 ของค่าบริการ

ในตอนนี้ โครงการที่คล้ายคลึงกันอีกหลายร้อยโครงการกำลังดำเนินการขึ้นในพื้นที่อื่นๆ แม้จะยังไม่ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกหมู่บ้าน แต่ลาวพยายามหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญกับข้อผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุด ดังที่เห็นได้จากในประเทศเพื่อนบ้าน จากการที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวนำนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ไปยังหมู่บ้านต่างๆ โดยไม่ปรึกษาชาวบ้าน

ป้ายต่างๆ บนผนังตามบริษัทตัวแทนท่องเที่ยวให้คำแนะนำแก่ชาวต่างชาติ เช่น ถอดรองเท้าก่อนเข้าบ้าน ให้ความเคารพพื้นที่สำหรับใช้บูชา และไม่ถ่ายภาพหากไม่ขออนุญาตก่อน ขณะที่ชาวบ้านเองได้รับความรู้เกี่ยวกับความต้องการของนักท่องเที่ยวและวิธีการปรับปรุงในด้านสุขอนามัย

ขณะที่ลาวพยายามดึงนักท่องเที่ยวมายังรูปแบบการผจญภัยในหุบเขาและหมู่บ้านกลางป่าลึก ลาวยังได้ต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนกรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของประเทศ และเมืองหลวงพระบางที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมากเช่นกัน ตามสถิติของลาวระบุว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาลาวเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากในปี 2534 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพียง 5,000 คน เพิ่มเป็นมากกว่า 2 ล้านคน ในปี 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น