เวียดนามเน็ต - สถานีสังเกตการณ์ของสถาบันพลังงานปรมาณูเวียดนาม ได้ตรวจพบสารกัมมันตรังสีในจังหวัดลางเซิน ในภาคเหนือ และเมืองด่าลัต ที่อยู่ในภูมิภาคที่ราบสูงภาคกลางของประเทศ แต่ในปริมาณเพียงเล็กน้อยและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ยอมรับว่า เวียดนามตัดสินใจที่จะเดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคีลยร์ และเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเป็นบทเรียนอันล้ำค่าต่อเวียดนาม
“สถานีสังเกตการณ์ที่ตั้งอยู่ในลางเซินตรวจพบสารกัมมันตรังสีบางชนิดในอากาศ แต่มีปริมาณเล็กน้อยซึ่งไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์” กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม กล่าว
โดยปกติในอากาศมีสารกัมมันตรังสีตามธรรมชาติที่มาจากดิน หรืออวกาศ แต่การค้นพบสารกัมมันตรังสีครั้งล่าสุดนี้ต่างออกไป และตามที่องค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์ หรือ CTBTO ระบุไว้นั้น พบเพียงแค่ไอโซโทปรังสี ไอโอดีน 131
ดร.ดั่ง แถ่งห์ เลือง รองหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยสารกัมมันตรังสี กล่าวว่า ปริมาณของไอโซโทปรังสี ไอโอดีน 131 ในจังหวัดลางเซิน และเมืองด่าลัต เป็นจำนวนที่น้อยกว่าเป็นแสนเท่า
กว่าเกณฑ์ที่จะส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และว่า ไอโซโทปรังสี ไอโอดีน 131 อาจมาจากสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่ 1 ในญี่ปุ่น
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ไอโซโทปรังสีที่พบในชั้นบรรยากาศของเวียดนามมีน้อยกว่าระดับที่เป็นอันตรายกว่า 500,000 เท่า และไอโซโทปรังสีไอโอดีน 131 ในปริมาณเล็กน้อยไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และจะสลายไปเองใน 8 วัน
นายเหวียน เทียน เงิน รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ยอมรับว่า เวียดนามตัดสินใจที่จะเดินหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคีลยร์ในจังหวัดนิงห์ทวน ที่อยู่ในพื้นที่ชายฝั่งภาคกลางของประเทศ และว่าภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะเป็นบทเรียนอันล้ำค่าต่อเวียดนาม และนับตั้งแต่รัฐสภาเห็นชอบมติที่ 41 ในปี 2552 เกี่ยวกับแนวทางในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดนิงห์ทวน รัฐบาลได้ตีพิมพ์เอกสารทางกฎหมาย 5 ฉบับ เพื่อแนะแนวทางในการออกกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ของประเทศ
นายกรัฐมนตรี เหวียน เติ๋น ยวุ๋ง ได้ตัดสินใจตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นิงห์ทวนขึ้นมา โดยให้รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ และตัวแทนจากกระทรวง รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ของจังหวัดนิงห์ทวนเป็นคณะกรรมการในโครงการนี้
นอกจากนั้น คณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาลเวียดนามและรัสเซีย ได้ลงนามในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นิงห์ทวน เมื่อวันที่ 31 ต.ค.2553 ซึ่งการเตรียมการสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ดำเนินมานับแต่นั้น รวมทั้งข้อตกลงทางการเงินกับรัสเซียด้วย สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งที่ 2 เป็นการเจรจาระหว่างเวียดนามและญี่ปุ่นซึ่งอยู่ในขั้นดำเนินการ รวมทั้งข้อตกลงทางการเงินในก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากญี่ปุ่นด้วย โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเห็นชอบที่จะมอบเงินจำนวน 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรูปแบบของเงินช่วยเหลือไม่ต้องใช้คืนในการรวบรวมเอกสารโครงการ
พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง ได้รับการรับรองจากกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรม และรายงานความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 นิงห์ทวน กำลังอยู่ในระหว่างร่างแผน โดยการไฟฟ้าเวียดนาม (อีวีเอ็น) ถือเป็นเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 แห่ง และได้ทำการปรึกษากับทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ ไอเออีเอ เกี่ยวกับความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่ง โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกจะเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคม 2557 และเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 จะเริ่มผลิตไฟฟ้าในปี 2564 ส่วนเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 จะเริ่มทดสอบการใช้งานในปี 2565
รองนายกฯ เงิน กล่าวว่า การเลือกพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และเทคโนโลยีได้ดำเนินการแล้ว และจะได้รับการพิจารณาอย่างละเอียด รวมทั้งกรณีของสภาพอากาศที่เลวร้าย เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ หรือเครื่องบินพุ่งชน และเวียดนาม ได้ส่งนักศึกษาไปต่างประเทศเพื่อศึกษาเกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์ในรัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฝรั่งเศส