xs
xsm
sm
md
lg

3 เดือนจีนทุ่มลงทุนพม่ากว่า $3,000 ล้าน เฉือนไทยขึ้นเบอร์ 1

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<bR><FONT color=#000033O>ภาพแฟ้ม 21 ส.ค.2553 ชาวพม่าในท้องถิ่นพยายามเบียดเสียดแย่งกันขึ้นรถไฟที่สถานีทองโบน (Taungbyone) ใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ เมื่อมีเทศกาลก็มักจะเป็นแบบนี้ พม่ากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงอันสำคัญ การเมืองภายในเริ่มนิ่งภายใต้ระบอบทหารที่แปลงร่างเข้าปกครองประเทศในคราบพลเรือน เดือน พ.ย.2553-ม.ค.2554 เงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าไปกว่า 3,500 ล้านดอลลาร์ เป็นทุนจากจีนมากที่สุด ซึ่งในขณะนี้ได้ขึ้นเป็นอันดับ 1 แทนทุนไทย.-- REUTERS/Soe Zeya Tun. </font>

ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ในช่วงเดือน พ.ย.2553 - ม.ค.2554 ต่างชาติเข้าลงทุนในพม่าเป็นเงินทั้งสิ้น 3,560 ล้านดอลลาร์ ทำให้เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) เพิ่มขึ้นเป็นทั้งหมด 35,406 ล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่รัฐบาลทหารเปิดรับการลงทุนในปี 2531 เป็นต้นมา

เงินลงทุนในช่วง 3 เดือนดังกล่าวนี้ ไปจากจีนมากที่สุดถึง 3,180 ล้านดอลลาร์ จากสิงคโปร์ 186 ล้าน เกาหลี 183 ล้าน และ ดินแดนฮ่องกงอีก 3 ล้านดอลลาร์ นิตยสารข่าวป็อปปูลาร์นิวส์ภาษาพม่ารายงานในฉบับล่าสุด โดยอ้างตัวเลขกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ

หากนับตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เงินลงทุนจากจีนมีมูลค่ารวมกันถึง 9,603 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นผู้ลงทุนมากที่สุด แทนที่ประเทศไทยที่มีเงินลงทุนในประเทศนี้รวม 9,568 ล้านดอลลาร์ สื่อกึ่งทางการ กล่าว

เงินทุนจากจีนเพิ่มขึ้นสูงมาก เนื่องจากบริษัทจีนเข้าลงทุนในแขนงก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก (ชายฝั่งทะเลเบงกอล) สร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า สำรวจและผลิตน้ำมันดิบและก๊าซ รวมทั้งในการสำรวจแหล่งแร่ล้ำค่าด้วย

แม้จะถูกสหรัฐฯ กับโลกตะวันตก คว่ำบาตร แต่จนถึงปัจจุบันมีบริษัทเอกชนและของรัฐบาล 433 แห่งจาก 31 ประเทศและดินแดน เข้าลงทุนใน 12 แขนงเศรษฐกิจในพม่า ตั้งแต่การสำรวจพลังงาน ผลิตไฟฟ้า การผลิต การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โรงแรมและการท่องเที่ยว เหมืองแร่ การโทรคมนาคมและขนส่ง การเลี้ยงสัตว์ ประมง อุตสาหกรรม ก่อสร้าง การเกษตรและบริการต่างๆ

ปัจจุบันจีนกำลังเร่งก่อสร้างท่าเรือที่เกาะจ๊อกเปียว ใกล้กับเมืองสิตเตว เมืองเอกของรัฐระไค (ยะไข่) เพื่อให้เป็นท่าเรือน้ำลึกสำหรับขนถ่ายน้ำมันและสินค้าในทะเลเบงกอล และ ที่นั่นกำลังจะเป็นศูนย์การสำรวจและผลิตน้ำมันดิบและก๊าซใหญ่ที่สุดในประเทศ

จีนกำลังเร่งก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำมันกับท่อส่งก๊าซคู่ขนานผ่านดินแดนพม่าไปยังชายแดนจีนมณฑลหยุนหนัน ในปี 2552 พม่าได้เซ็นสัญญาจำหน่ายก๊าซปริมาณมหาศาลในแปลงสำรวจ A-1 กับ A-3 ให้แก่จีนทั้งหมด แม้ว่ากลุ่มบริษัทเกาหลี-อินเดีย จะเป็นผู้ลงทุนสำรวจขุดค้นจนพบก็ตาม ทั้งหมดจะถูกส่งผ่านระบบท่อที่กำลังก่อสร้าง

ขณะเดียวกัน การมีท่อส่งน้ำมันดิบผ่านพม่า ทำให้จีนลดการพึ่งพาการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางผ่านช่องแคบมะละกา ที่เสี่ยงต่อการถูกปิดกั้นในสภาวะสงคราม

ปัจจุบันบริษัทรัฐบาลจีนกำลังเร่งก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าหลายแห่ง รวมทั้งเขื่อนมี๊ตโสน (Myitsone) ขนาด 6,000 เมกะวัตต์ กั้นลำน้ำสาขาของแม่น้ำอิรวดีในรัฐกะฉิ่น ซึ่งเป็นโครงการเขื่อนใหญ่ที่สุดในพม่าขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น