ผู้จัดการ360องศารายสัปดาห์ — มีใครเคยนับจำนวนบ้าง ว่า ปัจจุบันมีเขื่อนอยู่ในลาวทั้งหมดกี่แห่ง อีกกี่โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง... 25 หรือ 30 แห่ง? ผิดทั้งหมด
จนถึงเดือน พ.ย.มีเขื่อนใหญ่น้อยที่เซ็นสัญญาแล้วทั้งหมด 65 แห่ง ในนั้นราว 10 โครงการได้รับอนุมัติในปีนี้ นี่คือ ตัวเลขล่าสุดตามตัวเลขกระทรวงแผนการและการลงทุน
ทั้งหมดอยู่ในแผนการทำให้ประเทศเป็นแหล่งผลิตพลังงานใหญ่ของภูมิภาค หรือ “แบตเตอรีแห่งเอเชีย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามขจัดความยากจนให้หมดภายในปี 2563 หรือ 10 ปีข้างหน้า
การจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านสร้างรายได้อันดับหนึ่งให้ทางการคอมมิวนิสต์ลาวตลอดกว่า 10 ปีมานี้ และในวันนี้ไทยไม่ได้เป็นลูกค้าเพียงรายเดียวอีกต่อไป
โครงการเขื่อนที่เซ็นสัญญาแล้วทั้งหมดมีกำลังผลิตรวมกัน 18,897.5 เมกะวัตต์ ขณะที่ลาวมีศักยภาพที่จะผลิตได้กว่า 20,000 เกมะวัตต์
ในบรรดาเขื่อนที่กำลังก่อสร้างและจะลงมือก่อสร้างทั้งหมด 47 แห่ง เป็นขนาดเล็กและกลางรวมกำลังปั่นไฟ 2,898 เมกะวัตต์ ผลิตเพื่อใช้ในประเทศ ที่เหลือเขื่อนขนาดใหญ่ทั้งหมดผลิตเพื่อส่งจำหน่าย
จนถึงปัจจุบันไทยได้เซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจาก 16 โครงการ รวม 7,000 เมกะวัตต์ เวียดนามเป็นอันดับ 2 เซ็นซื้อ 18 โครงการกว่า 4,800 เมกะวัตต์ และกัมพูชาอีกราว 1,000 เมกะวัตต์
คาดว่า ในปี 2558 จะมีเพียง 9 โครงการที่ส่งไฟฟ้าให้ไทยได้ คือ น้ำเทิน 2 น้ำงึม 2-3 หงสาลิกไนต์ น้ำเทิน 1 หินบูนภาคขยาย น้ำเงียบ 1 น้ำบาก 1 และเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย รวม 5,438 เมกะวัตต์ อีก 7 โครงการ 7,405 เมกะวัตต์ จะผลิตจำหน่ายให้ได้หลังจากนั้น
นั่นคือ ในช่วงปีดังกล่าว ลาวจะมีไฟฟ้าขายให้ไทยเกือบ 13,000 เมกะวัตต์ รวมทั้งไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนกั้นลำน้ำโขงเกือบทั้งหมด คือ ดอนฮะโฮง ปากลาย ไซยะบูลี ปากแบง บ้านกุ่ม เขื่อนลาดเสือ กับเขื่อนน้ำอูทางภาคเหนือ
โครงการน้ำเทิน 2 เพียงแห่งเดียว เมื่อเดินเครื่องเต็มกำลังในปี 2554 จะทำให้ลาวมีรายได้ปีละ 80 ล้านดอลลาร์ สื่อของทางการกล่าว