ASTVผู้จัดการออนไลน์-- สมาคมประมงพม่าทึ่งในวิธีการเพาะเลี้ยงปลาสลิด กับกระบวนการแปรรูปที่ประหยัดทั้งเวลาและได้รสชาติออกมาอร่อย ตามมาศึกษาดูงานกันถึงที่ เพิ่งรู้ว่าไทยทำปลาสลิดแดดเดียว
เรื่องราวดังกล่าวปรากฏในรายงานชิ้นหนึ่งของนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ "เมียนมาร์ไทมส์" ที่กำลังวางแผงอยู่ในสัปดาห์นี้
ในพม่ามีการเพาะเลี้ยงปลาสลิดเช่นเดียวกัน แต่ด้วยภูมิความรู้และกรรมวิธีแตกต่างกันออกไป ซึ่งวิธีของไทยดีกว่าและประหยัดกว่า เนื่องจากไม่ต้องให้อาหาร ปลาพวกนี้หากินเองได้เก่ง รอจับขึ้นมาขายเมื่อโตได้ขนาด
นายหลาวิน (Hla Win) อดีตอธิบดีกรมประมงพม่า กล่าวกับนิตยสารดังกล่าวหลังนำคณะมาเยือนไทยระหว่างวันที่ 5-9 ก.พ. ซึ่งได้ไปเยี่ยมชมกิจการที่ฟาร์มเลี้ยง 2 แห่งใกล้กรุงเทพฯ
หลังการเยี่ยมเยือนและดูงานดังกล่าว ทำให้เกษตรกรพม่า "กระตือรือร้นที่จะยกระดับ การเพาะเลี้ยงและเปลี่ยนกรรมวิธีในการแปรรูปให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น" เมียนมาร์ไทมส์กล่าว
"เราได้ไปเยี่ยมชมฟาร์ม 2 แห่งที่เลี้ยงปลาสลิดในบ่อกว้าง มีการคัดแยกปลา (พ่อพันธุ์แม่พันธุ์) ออกไป หลังการจับแต่ละครั้ง" นายหลาวินกล่าว
ในประเทศไทย "ทำ" ปลาสลิดโดยตัดส่วนหัวออกไป "พวกเขาบอกว่า ถ้าหากไม่ตัดหัวก็จะทำให้ปลาเน่าไวขึ้น"
เกษตรกรของไทยใช้เครื่องจักรในการขอดเกล็ดปลา ใช้เวลา 10 นาที ขอดได้ถึง 20 กิโลกรัม เร็วกว่าใช้มือมาก
ในพม่าจะใช้เกลือหว่านลงและใช้มือคลุกให้เข้ากับปลาสลิด และนำไปตากแดดเป็นเวลาถึง 2 วัน แต่ของไทยทำอีกแบบหนึ่ง ในพม่าจะทำใช้เกลือประมาณ 50% ของปลา แต่วิธีของไทยใช้เกลือเพียงประมาณ 10% และ ใช้เครื่องจักรคลุกเคล้า นำออกตากแดดแก่ราวค่อนวันก็เก็บ
"พวกเขาบอกว่า ถ้าปลาตากแดดนานเกินไป ความชื้นก็จะออกมา และล่อแมลงวัน (ให้ไปตอม)" อดีตอธิบดีประมงพม่ากล่าว
ในประเทศไทยปลาสลิดไม่ต้องการให้ใครให้อาหารมัน เพราะว่าพวกมันหาอาหารเองได้ นายวินจ่าย (Win Kyaing) เลขาธิการร่วมสมาคมผู้เลี้ยงปลาพม่ากล่าว.