ซินหัว/ASTVผู้จัดการรายวัน - โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเยวา (Yeywa) ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดของพม่าในปัจจุบันใกล้จะเสร็จเรียบร้อยแล้วและจะทำการทดลองเปิดเครื่องปั่นไฟ 1 ใน 4 เครื่องภายในเดือนธ.ค. นี้ นับเป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของแผนการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในประเทศจากพลังน้ำทั้งหมด
การก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าเยวาบนแม่น้ำมิตเหงะ (Myitnge River) นี้ เป็นการลงนามร่วมกันในข้อตกลงระหว่างพม่าและบริษัทจากประเทศจีนหลายบริษัทตั้งแต่ปี 2547 เพื่อร่วมลงทุนในการจัดซื้อเครื่องมือที่ใช้ในการสร้างเขื่อน การหาโครงสร้างเหล็กที่สามารถทำงานในน้ำได้ และอุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ รวมถึงกังหันที่ใช้ในการผลิตและขนส่งกระแสไฟฟ้า ด้วยมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด 600 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการลงทุนจากรัฐบาลพม่า 400 ล้านดอลลาร์และอีก 200 ล้านดอลลาร์จากจีน
เขื่อนเยวาแห่งนี้มีศักยภาพสูงมากโดยสร้างกั้นแม่น้ำมิตเหงะ ห่างจากมัณฑะเลย์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 50 กม. ประกอบด้วยเครื่องปั่นไฟ 4 เครื่อง ที่มีขีดความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้ 790 เมกะวัตต์ ทำให้คาดว่าจะสามารถให้บริการไฟฟ้าได้ 3,550 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี และกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งไปทั่วประเทศโดยผ่านเมืองย๊อกเส (Kyaukse) เมกติลา (Meikhtila) และมัณฑะเลย์ (Mandalay) ด้วยสายเคเบิลคู่ 230 กิโลโวลต์
นอกจากนั้นในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา พม่าได้สร้างสถานีปั่นไฟฉ่วยลี่-1 (Shweli-1) เพิ่มขึ้นอีก 1 แห่งในบริเวณเขื่อนฉ่วยลี่ที่สร้างขึ้นพร้อมกัน ในเขตเมืองน้ำคำ (Namhkam) ทางตอนเหนือของรัฐชาน (Chan) โดยสถานีปั่นไฟฉ่วยลี่-1 มีกำลังผลิต 600 เมกกะวัตต์ ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 4,022 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี
จนถึงปัจจุบัน พม่ามีกำลังผลิตไฟฟ้าที่สร้างแล้วรวมทั้งหมด 1,684 เมกะวัตต์ และตามสถิติที่เป็นทางการในช่วงปีงบประมาณ 2551-2552 พม่าจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึง 6,620 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี
โครงการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าของพม่า เป็นความพยายามของรัฐบาลทหารพม่าที่มุ่งหมายจะเปลี่ยนแนวทางการผลิตกระแสไฟฟ้าจากการใช้พลังงานก๊าซ มาเป็นการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแทน ตามข้อมูลของกระทรวงพลังงานไฟฟ้าพม่า ปัจจุบันกระแสไฟฟ้าที่ผลิตใช้ในประเทศนั้น ได้จากพลังงานความร้อนจากก๊าซคิดเป็น 48.5% จากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ 38.5% จากกังหันไอน้ำ 12.5% และจากน้ำมันดีเซลยังเหลืออยู่อีกเพียง 0.5%
เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตใช้ภายในประเทศทั้งหมดมาจากเขื่อนภายในปี 2573 การก่อสร้างเพิ่มเติมหรือดัดแปลงเขื่อนชลประทานที่มีอยู่หลายสิบแห่งทั่วประเทศจึงถูกดำเนินการปรับเปลี่ยนให้เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ โดยกระทรวงพลังงานไฟฟ้าพม่าคาดว่า ภายในปี 2573 เขื่อนทุกแห่งในประเทศจะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวมกันได้ถึง 23,300 เมกกะวัตต์.