ASTVผู้จัดการรายวัน -- ราษฎรจากท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ ตัวแทนภาคประชาสังคม นิสิตนักศึกษา จำนวนมาก มีกำหนดไปชุมนุมที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล ในเช้าวันจันทร์ (23 พ.ย.) ศกนี้ เพื่อยื่นหนังสือต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ถอนตัวจากการสนับสนุนโครงการเขื่อนฮัตจี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชากรจำนวนมาก ที่อาศัยและทำกินกับลำน้ำสาละวิน ทั้งในฝั่งไทยและฝั่งพม่า
หนังสืออีกฉบับหนึ่งกำลังจะส่งถึง ดร.ศรีประภา เพชรมณี ผู้แทนของไทย ซึ่งกำลังทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มอาเซียน ในวันเดียวกัน ทั้งนี้ เป็นคำแถลงที่ออกโดยกลุ่ม “แม่น้ำเพื่อชีวิต” และ โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ (TERRA) ที่ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ได้รับสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
คำแถลงระบุว่า เขื่อนฮัตจี ขนาด 1,360 เมกะวัตต์ มีแนวโน้มจะเป็นเขื่อนแรกที่มีการผลักดันให้สร้างบนลำน้ำสาละวิน จะทำให้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าร้ายแรงยิ่งขึ้น และ สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตทั้งฝั่งไทยและพม่า ภาคประชาชนตั้งข้อสงสัยว่า กฟผ.ไม่ได้เสนอข้อมูลที่ครบถ้วนต่อรัฐบาล และไม่เอาใจใส่คณะกรรมการสิทธิฯ ที่เสนอให้รัฐบาลสั่งระงับสร้าง
เขื่อนตั้งอยู่ห่างชายแดนไทยเพียง 47 กิโลเมตร จะทำให้เกิดน้ำท่วมกินบริเวณกว้างในรัฐกะเหรี่ยงของพม่า และสองฝั่งแม่น้ำที่อยู่เหนือเขื่อนขึ้นไปหลายสิบกิโลเมตร รวมทั้งเขต อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ของไทยด้วย
ฮัตจีเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือ กฟผ. กับ บริษัท ชิโนไฮโดร คอร์ป บริษัทยักษ์ใหญ่ของจีน และกรมไฟฟ้าพลังน้ำ กระทรวงพลังงานไฟฟ้า 1 ของพม่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งขายให้ไทย
เดือน เม.ย.ปีนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เสนอให้รัฐบาลพิจารณาสั่งการให้ กฟผ. ระงับการก่อสร้าง โดยระบุว่า การสร้างเขื่อนฮัตจี “เป็นการส่งเสริมให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนชาวกะเหรี่ยงในพม่า และประเทศไทยต้องแบกรับภาระในการดูแลผู้อพยพ” ซึ่งในปัจจุบันได้มีได้ผู้หลบหนีการปราบปรามของรัฐบาลทหารเข้ามาฝั่งไทยกว่า 3,500 คนแล้ว
กฟผ.ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจนต่อทั้งประชาชนในพื้นที่และสาธารณชนไทย และในการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ที่มัณฑะเลย์ รัฐมนตรีพลังงานของไทย ยังหยิบยกประเด็นการสร้างเขื่อนฮัตจี กับเขื่อนใหญ่อีกแห่งหนึ่งขึ้นมา บ่งให้เห็นแนวโน้มการสนับสนุนของรัฐบาลที่มีต่อ กฟผ.อย่างชัดเจน คำแถลงระบุ
มนตรี จันทวงศ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ นักวิจัยของ TERRA กล่าวว่า การเข้าไปสร้างเขื่อนในพื้นที่สงครามในประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตย ขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิงกับข้ออ้างของ กฟผ.ว่า ฮัตจีจะให้ความมั่นคงด้านพลังงานกับไทย เรามีไฟฟ้าล้นเกินอยู่แล้ว “การสร้างเขื่อนสาละวินจะเพิ่มปัญหามากมาย และยิ่งจะทำให้ทางเลือกด้านพลังงานยั่งยืนของไทยยิ่งตีบตัน”
นายนุ ชำนาญคีรีไพร ชาวกะเหรี่ยง จากบ้านแม่ก๋อน ริมน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ชาวบ้านไม่เคยรู้ข้อมูลเรื่องเขื่อนเลยว่าจะสร้างตรงไหน น้ำท่วมเท่าไหร่ ปลาจะหายไปหรือไม่ คนที่จะสร้างเขื่อน ไม่เคยไปถาม ไม่เคยจัดเวทีประชาคมให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็น
อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถติดต่อขอความเห็นจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องของ กฟผ.ได้ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา
เดือน ก.พ.2550 ได้มีการรวมตัวประท้วงครั้งใหญ่พร้อมกันใน 19 ตัวเมืองทั่วโลก ต่อต้านการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำสาละวิน “ลำน้ำอิสระ” สายสุดท้ายในเอเชียตะวัออกเฉียงใต้ รวมทั้งการประท้วงที่หน้าสถานทูตพม่าในกรุงเทพฯ ด้วย
กลุ่มผู้ประท้วงได้ยื่นหนังสือฉบับหนึ่งที่ร่วมลงนามโดยผู้แทนของ 124 องค์กรในประเทศไทย 56 องค์กรของชาวพม่า และอื่นๆ อีก 52 แห่ง รวมทั้งประชาชนทั่วไปอีก กว่า 1,700 คน เรียกร้องให้รัฐบาลไทย สั่งการให้ กฟผ.ถอนตัวจากโครงการเขื่อนใหญ่ในพม่า ซึ่งรวมทั้งโครงการฮัตจีด้วย