xs
xsm
sm
md
lg

เฟื่องสุดๆ บัณฑิตฮานอยแห่จำนำปริญญาบัตร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#FF0000>มีปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในโรงรับจำนำกรุงฮานอย แต่ละแห่ง แต่ละสาขาวิชาถูกตีค่าแตกต่างกันไป (ภาพ: VietnamNet) </FONT></CENTER>
ผู้จัดการออนไลน์ -- ภายใต้ภาวะเงินเฟ้อที่กัดกร่อนชีวิตประจำของชาวเวียดนามหลายสิบล้าน ผู้ที่เรียนสำเร็จระดับอุดมศึกษา กลับมีความหวังเรืองรองขึ้นอีกครั้ง นอกจากใบปริญญาบัตรจะช่วยทำให้มีงานทำแล้ว ตอนนี้ยังสามารถนำไปจำนำแก้ขัดได้อีกด้วย

สิ่งนี้ก็เหมือนสินค้าทั่วไป จะจำนำได้ราคาเท่าไรย่อมขึ้นอยู่กับ “คุณภาพ” และขึ้นอยู่กับสถานที่ที่นำไปฝากไว้อีกด้วย และไม่ใช่ว่าโรงจำนำทุกแห่งจะรับ “สินค้า” ชนิดนี้

ตอนนี้บัณฑิตที่ขัดสนกำลังถามไถ่กันว่า สถานธนานุบาลแห่งใดบ้างที่ให้ราคาดี สำหรับ “กระดาษแผ่นเดียว” ที่สถาบันอุดมศึกษาของพวกเขาออกให้

โดยทั่วไปแล้วใบปริญญาบัตรจะจำนำได้ในราคาตั้งแต่ 1.5 ล้านด่ง (18,650 ด่งต่อดอลลาร์) ขึ้นไป หากเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียงก็จะได้มากกว่านั้น และราคาดีที่สุด ก็คือ ใบรับประกันดีกรีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ

เพราะฉะนั้นก็จึงเกิดมีเสียงกระซิบกระซาบกันปากต่อปากในหมู่นักศึกษาที่เรียนชั้นปีสุดท้ายเกี่ยวกับโรงรับจำนำที่ยินดีรับสินค้าของพวกเขา

เท่าที่นักข่าวของหนังสือพิมพ์ไซ่ง่อยหยายฟง (Saigon Giai Phong) สำรวจได้ขณะนี้มีโรงรับจำนวนอย่างน้อยสองแห่งในกรุงฮานอยที่รับใบรับปริญญาบัตร คือ โรงรับจำนำใกล้กับโรงเรียนมัธยมปลายกวางจุ่ง (Quang Trung) ถนนด่งดา (Dong Da) กับอีกแห่งหนึ่งที่ถนนหลีนามเย้ (Ly Nam De)

เจ้าของโรงรับจำนำรายหลังชื่อ “เฮียน” (Hien) ได้เปิดเผยว่า “ลูกค้า” เกือบทั้งหมดในปัจจุบันเป็นนักศึกษาที่เรียนจบใหม่และยังคงหางานในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา

นักศึกษาจากต่างจังหวัดส่วนใหญ่จะยังอยู่ในเมืองหลังเรียนจบ พวกนี้จะหาข้าวของที่พอจะมีราคาไปจำนำ เพื่อ “ต่อวีซ่า” หางานทำในเมืองหลวงต่อไป

นายเฮียน ได้นำใบปริญญาบัตรจำนวน 15 ใบที่รับจำนำเอาไว้ออกแสดงให้นักข่าวดูเป็นหลักฐาน ในนั้นมีของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งรวมอยู่ด้วย

“จะได้ราคาดีขึ้นอีกถ้าหากนำใบประกาศนียบัตรชั้นมัธยมปลายมาประกอบกับใบปริญญาบัตรด้วย” นายเฮียน กล่าว

โรงจำนำแห่งนี้คิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน คือ 7,000 ด่งต่อวันสำหรับยอดรับจำนำ 1 ล้านด่งขึ้นไป

**ไม่รับนิเทศฯ-วารสารศาสตร์**

สำหรับโรงจำนำใกล้กับโรงเรียนมัธยมปลายกวางจุ่งมีมาตรฐานอีกอย่างหนึ่ง เจ้าของแปลกใจมากที่เห็นนักข่าวสาวเข้าไปแสดงความจำนงจะขอจำนำปริญญาบัตร เนื่องจากไม่ค่อยมีบัณฑิตหญิงไปที่นั่นมาก่อน
<CENTER><FONT color=#FF0000> บัณฑิตหน้าตาสดชื่นหลังเรียนจบ แต่การหางานไม่ใช่เรื่องง่ายในเศรษฐกิจที่เงินเฟ้อเป็นตัวเลขสองหลัก </FONT></CENTER>
“มหาวิทยาลัยไหน?” เป็นคำถามแรก

“คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐศาสตร์และมนุษยศาสตร์กรุงฮานอย” นักข่าวสาวตอบ

เจ้าของโรงรับจำนำส่ายหัวก่อนจะบอกกับลูกค้าหญิงรายแรกของร้าน ว่า ที่นั่นไม่รับจำนำปริญญาบัตรสาขานิเทศศาสตร์กับวารสารศาสตร์ เพราะว่า “มันไม่มีค่า”

ผู้สื่อข่าวกล่าวว่า ใบปริญญาบัตรของแต่ละสาขาจะมีราคาแตกต่างกันไป แต่โรงจำนวนแห่งนี้ชอบใบประกาศนียบัตรหรือระเบียนแสดงผลการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายมากกว่าใบปริญญาบัตร โดยให้เหตุผลว่าขายง่ายกว่า และได้ราคาดีกว่าปริญญาบัตร

ขณะที่ปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงมีค่าเพียง 1 ล้านด่ง และ 1.5 ล้านด่งสำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐ และอาจจะได้ถึง 2 ล้านด่งสำหรับบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ หรือมากกว่านั้นสำหรับสาขาคอมพิวเตอร์ศาสตร์ หรือวิศวกรรมศาสตร์

แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยมีลูกค้าเรียนจบสาขาเหล่านี้ไปใช้บริการ เจ้าของโรงจำนำ กล่าว

สำหรับใบประกาศนียบัตรชั้นมัธยมปลายกลับมีค่าสูงกว่า เจ้าของจะได้ราคาถึง 2.5 ล้านด่ง โดยมีข้อแม้ว่าต้องยอมทิ้งบัตรประจำตัวประชาชนไว้ที่โรงจำนำด้วย

ไซง่อนหยายฟง กล่าวว่า ไม่แปลกอะไรที่ในวันนี้เริ่มมีผู้บัณฑิตจำนวนหนึ่ง นำประกาศนียบัตรชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายไปจำนำ และ เก็บใบปริญญาบัตรไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานจริงในการสมัครงานแทนสำเนา

แต่ก็มีอีกจำนวนมากที่คิดตรงกันข้าม

ถึงแม้ว่าการรับจำนำหลักฐานการศึกษาจะไม่ผิดกฎหมายใดๆ แต่ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงอยู่ไม่น้อยหากเกิดมีผู้ใช้หลักฐานการศึกษาที่หลุดจำนำไปปลอมแปลง และเจ้าหน้าที่สามารถสืบย้อนกลับมายังต้นทางได้

เจ้าของโรงจำนำ กล่าวว่า ยังไม่ทราบเป็นเพราะอะไร ถ้าหากถูกจับได้ไล่ทันว่าแก๊งปลอมประกาศนียบัตรใช้ใบประกาศที่หลุดจำนำ โรงรับจำนำที่เกี่ยวข้องจะถูกปรับหนักมาก
<CENTER><FONT color=#FF0000> เจิ่นถิถวี่ซวุง (Tran Thi Thuy Dung) มิสเวียดนาม 2008 เพิ่งถูกถอดมงกุฎไปหยกๆ เพระเธอเรียนไม่จบมัธยมปลายและใช้ประกาศนียบัตรปลอม </FONT></CENTER>
แต่ค่าปรับน้อยหากเป็นความผิดเกี่ยวกับใบปริญญาบัตร ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะว่าในเวียดนามมีการปลอมแปลงใบประกาศนียบัตรชั้นมัธยมปลายมากกว่า หลักฐานการศึกษาในระดับอื่นๆ เจ้าของโรงรับจำนำ กล่าว

**ใครบ้างเป็นลูกค้า**

จากการสอบถามได้พบข้อมูลว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ของโรงจำนำเหล่านี้ เป็นนักศึกษาที่เรียนจบใหม่หรืออาจจะจบไปแรมปีแล้วแต่ยังคงหางานทำในเมือง

หลายคนผิดหวังกับปริญญาบัตรที่ได้รับมาและมองเห็นว่า ไม่มีค่าอะไร ไม่สามารถช่วยให้หางานทำได้

“ผมคิดว่าขายมันไปจะดีกว่า เพราะมันไม่ได้ช่วยอะไร ผมไม่ต้องการมันอีกแล้ว” นักศึกษาบริหารธุรกิจคนหนึ่งที่หางานทำมาข้ามปี กล่าวกับไซ่ง่อนหยายฟง

บัณฑิตค้างปีรายนี้ ย้ำว่า สาขาที่เรียนมากับใบปริญญาที่ได้รับ ไม่ได้ช่วยให้ตัวเขาสามารถทำธุรกิจได้อย่างที่ตั้งใจเอาไว้

ส่วนบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยทรัพยากรแหล่งน้ำ (กรุงฮานอย) กล่าวอย่างจริงใจว่า เขาต้องการเงินนิดๆ หน่อยๆ ตั้งใจจะไปซื้อชุดใหม่เพื่อไปร่วมงานเลี้ยงกับเพื่อนๆ

“เอามาจำนำแล้ว จะไปหางานทำได้อย่างไร” ผู้สื่อข่าวถาม

“อ๋อ..ผมไปก๊อบเอาไว้แล้วเพื่อเอาไปประกอบการสมัครงาน ไม่มีนายจ้างที่ไหนขอฉบับจริงไปเก็บไว้หรอก” บัณฑิตรายเดียวกัน กล่าว

**เอาปริญญาบัตรไปทำอะไร**

นายเฮียน กล่าวว่า ลูกค้าจำนวนมากหวังจะกลับไปไถ่ถอนใบปริญญาบัตรคืนในเดือนข้างหน้าเมื่อได้งานทำเป็นหลักแหล่ง หลายคนรู้สึกหวงแหนเพราะกว่าจะได้มาต้องลำบากเป็นเวลา 4-5 หรือ 6 ปี ส่วนโรงจำนำก็ได้ดอกเบี้ยตามตกลงเป็นการตอบแทน

แต่ผู้ประกอบการรายนี้กล่าวอย่างไม่ปิดบังว่า ความหวังจริงๆ ก็คือ รอเวลาให้ของจำนำเหล่านั้นหลุดเพื่อนำออกขายซึ่งได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่า และไม่ใช่ความผิดอะไร

ปริญญาบัตรในหนึ่งอาจจะมีค่าถึง 4 ล้านด่งในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบุคคลประกาศรับซื้อทางอินเทอร์เน็ตอยู่เป็นระยะๆ และไม่มีทางทราบได้ล่วงหน้าว่าผู้ซื้อจะนำไปทำอะไร

“เขาจะทำให้หลักฐานการศึกษาเหล่านั้นเป็นของตัวเองอย่างถูกกฎหมายได้อย่างไร” นักข่าวถาม

“ผมไม่ทราบ ขั้นตอนนั้นก็ไม่ใช่ความรับผิดชอบขอเราแล้ว” นายเฮียน ตอบอย่างชัดเจน
<CENTER><FONT color=#FF0000> สำหรับน้องๆ มัธยมปลาย ใบประกาศนียบัตรของพวกเธอ ตลาดต้องการมากกว่าปริญญาบัตรเสียอีก </FONT></CENTER>
ผู้ประกอบการรายนี้ ตั้งข้อสงสัยว่า ใบปริญญาบัตร หรือปริญญาบัตรฉบับจริงอาจจะถูกนำไปเปลี่ยนชื่อ เนื่องจากการเปลี่ยนชื่อทำได้ง่าย ขณะที่การปลอมแปลงตรามหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาต่างๆ ทำได้ยากกว่า

“ประมาณว่าลูกค้าหนึ่งในสามจะไม่กลับมาไถ่ถอนสินค้าของพวกเขา ถ้าหากสองเดือนผ่านไปและยังไม่กลับมาติดต่อส่วนใหญ่ก็จะกลายเป็นว่าพวกนั้นยอมทิ้งแล้ว” นายเฮียน กล่าว

ยังไม่มีรายงานที่เป็นทางการเกี่ยวกับขีดความรุนแรงสำหรับการอาชญากรรมการปลอมแปลงหลักฐานการศึกษาในเวียดนาม แต่อย่างน้อยที่สุดก็มีกรณีหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ที่ช่วยยืนยันว่า ปัญหานี้มีอยู่จริง

เจิ่นถิถวี่ซุง (Tran Thi Thuy Dung) มิสเวียดนาม 2008 ได้ถูก “ถอดมงกุฎ” เมื่อเดือนที่แล้ว หลังครองตำแหน่งยังไม่ทันข้ามเดือน

คณะกรรมการของกระทรวงวัฒนธรรมการท่องเที่ยวและกีฬา ได้พบว่า Miss Vietnam ปีนี้ ยังไม่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย นอกจากนั้นยังได้ใช้ประกาศนีบัตรปลอมไปสมัครเรียนต่อระดับไฮสกูลในต่างประเทศอีกด้วย

ตามรายงานของสื่อในเวียดนาม ยังไม่มีรายละเอียดว่าถวี่ซวุง ได้ใบประกาศนียบัตรชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ออกโดยกระทรวงศึกษาและฝึกอบรมได้อย่างไร และตราประทับทุกอย่างล้วนเป็นของแท้

แต่หลักฐานและพยานบุคคลที่โรงเรียนเดิมของเธอในนครด่าหนัง (Danang) ยืนยันแน่ชัดว่าสาวงามขวัญในของชาวเวียดนามยังเรียนไม่จบ
กำลังโหลดความคิดเห็น