ผู้จัดการออนไลน์-- ไซโคลนนาร์กิสผ่านไปแล้วเป็นเวลา 1 เดือนแต่กรุงเก่าย่างกุ้งยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ชนชั้นกลางระทมทุกข์ข้าวของแพง ประปาเสียหายหนักต้องเช่าเครื่องปั่นไฟแพงลิ่วเพื่อสูบน้ำใช้ อาหารการกิน วัสดุก่อสร้างขึ้นราคาพรวด
นางโชโช (Cho Cho) รู้ว่าเธอนั้นยังโชคดี แม้ว่าหลังจากที่เกิดเหตุการณ์พายุนาร์กิสพัดถล่มกรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงเก่าของพม่าและสร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ที่บ้านเรือนประชาชนรวมทั้งบ้านของนางโชโชด้วยเช่นกัน และเป็นเหตุให้น้ำประปาไม่ไหลมาเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนแล้ว
แต่ความเสียหายที่นี่นับว่ายังน้อยนักเมื่อเทียบกับบริเวณที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านถูกไซโคลนพัดทำลายหายไปทั้งหมดและทำให้มีผู้ที่เสียชีวิตหรือสูญหายกว่า 133,000 ราย
องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ประมานการว่าผู้ประสบภัยในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำราว 1 ล้านคนยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือที่นานาชาติส่งเข้าไปให้ ขณะที่บางส่วนที่อาศัยอยู่ในรอบกรุงย่างกุ้งก็ได้รับความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
นางโชโช ยังคงประกอบอาชีพสอนภาษาอังกฤษต่อไป แต่ได้กล่าวว่า แม้ครอบครัวของเธอซึ่งนับได้ว่าเป็นชนชั้นกลางของประเทศก็ยังกังวลเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในเดือนต่อๆ ไปว่าจะเป็นเช่นไรในประเทศที่ขณะนี้กลายเป็นประเทศหนึ่งที่ยากจนที่สุดในโลก
ระบบประปาของเมืองส่วนใหญ่ถูกพายุทำลายเสียหาย รวมทั้งไม่มีไฟฟ้าที่จะนำมาใช้กับเครื่องสูบน้ำ ไม่มีทางใดเลยที่จะสามารถหาน้ำมาใช้ในอาคารที่พักอาศัยได้
พวกเขาสามารถเช่าเครื่องปั่นไฟ แต่ราคาก็สูงมากถึงเกือบ 8 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง โดยต้องใช้เครื่องปั่นไฟประมาณ 5 ชม.เพื่อสูบน้ำมาไว้ใช้ในอาคาร รวมเป็นเงินกว่า 40 ดอลลาร์ซึ่งราคาดังกล่าวแพงมากกว่าค่าเช่าบ้านที่บางครอบครัวต้องจ่ายรายเดือน
"เราต้องหาซื้อน้ำมันจากตลาดมืดเพื่อให้เครื่องปั่นไฟทำงาน เพราะปริมาณน้ำมันนั้นถูกแบ่งสรรเอาไว้แล้ว" นางโชโช กล่าวกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพี
ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าหลังจากที่เกิดเหตุภัยพิบัติ แม้ว่าราคาจะลดลงมาเล็กน้อยเมื่อได้มีการดำเนินการผลิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนของครอบครัวที่อาศัยอยู่ในชั้นบนสุดของอพาร์ทเมนต์ คือหลังคาซึ่งถูกพายุพัดหายไป
และราคาของหลังคาสังกะสีนั้นก็เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเนื่องจากมีปริมาณความต้องการเป็นจำนวนมาก แต่ประชาชนจำใจต้องซื้อเพราะช่วงนี้เป็นช่วงฤดูมรสุม
"สำหรับผู้ที่มีเงินไม่มากพอที่จะหาซื้อหลังคาสังกะสีได้ก็จะใช้ผ้าใบกันน้ำแทน บางคนที่ไม่มีเงินเลยก็จะไปอาศัยอยู่ที่อื่น และห้องของพวกเขาก็จะเต็มไปด้วยน้ำจากฝนที่ตกลงมา" นางโชโช กล่าว
นอกจากนี้ยังมีปัญหาของราคาข้าวที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวคุณภาพดีที่ราคาเพิ่มขึ้นถึง 50% มาอยู่ที่ 45,000 จ๊าต (ประมาณ 40 ดอลลาร์) ต่อถุงขนาดหนัก 24 ปอนด์
"ในกรุงย่างกุ้ง ถึงแม้เราจะมีเงิน แต่ก็ไม่สามารถซื้อข้าวได้ตามที่เราต้องการ ทางการได้กักตุนข้าวเอาไว้ขายเมื่อได้ราคาที่สูงขึ้น" นางจูจู (Ju Ju) ซึ่งทำงานให้กับบริษัทนำเข้ายาแห่งหนึ่ง กล่าว
นางจูจู กล่าวต่อว่า "เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นการการเก็บเกี่ยวผลผลิตในครั้งต่อไป ปีหน้าราคาข้าวอาจจะพุ่งสูงขึ้นกว่านี้"
พืชผลในบริเวณที่ราบปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากพายุ พื้นที่ส่วนใหญ่เต็มไปด้วยน้ำ ผู้ประสบภัยที่นั่นสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่างและยังคงรอคอยความช่วยเหลือ
ประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในกรุงย่างกุ้งได้แบ่งสรรเงินที่มีอยู่น้อยนิดเพื่อนำมาซื้ออาหารและเสื้อผ้าให้แก่ผู้ประสบภัยที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบปากแม้น้ำ แม้ว่าพวกเขาเองจะประสบกับความยากลำบากเช่นเดียวกันก็ตาม.