ผู้จัดการรายวัน-- กัมพูชาได้ขายสวนยางพารา 3 ของรัฐบาลจำนวน 3 แห่งแรกรวมเนื้อที่กว่า 137,000 ไร่ ให้บริษัทเอกชน 3 แห่งเช่านานถึง 99 ปี โดยมีบริษัทยางมิเชลินรวมอยู่ด้วย ขณะที่นักลงทุนจากจีนอีกแห่งยื่นข้อเสนอพร้อมกวาดไม่อั้นเพื่อปั๊มยางดิบป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ
นับเป็นการขายกิจการอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรก ตั้งแต่ทางการได้ประกาศในช่วงกลางปี 2549 เกี่ยวกับการขายสวนยางของรัฐจำนวน 6 แห่งใน จ.กัมปงจาม (Kampong Cham) กับอีก 1 แห่งใน จ.กระแจ๊ะ (Kratie) ให้เอกชนเข้าไปดำเนินการแทน
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์รัศมีกัมพูชา (Reasmey Kampuchea) รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน (Hun Sen) ได้มีมติเกี่ยวกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจยางพาราหลังการประชุมเมื่อเร็วๆ นี้
รัศมีกัมพูชาซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันที่สนับสนุนพรรคประชาชนกัมพูชา ที่เป็นพรรครัฐบาลเพียงพรรคเดียวโดยพฤตินัย กล่าวว่าสวนยางพาราทั้งหมดที่แปรรูปครั้งนี้อยู่ในจังหวัดกัมปงจาม (Kampong Cham) ทางตะวันออกกรุงพนมเปญ
บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์จากฝั่งเศส ที่เข้าใจกันว่าจะเป็นยี่ห้อมิเชลิน (Michelin) ได้รับอนุญาตให้เข้าดำเนินการสวนยางในเขตจัมการ์อันดุง (Chamkar Andoung) เนื้อที่กว่า 6,000 เฮกตาร์ (กว่า 37,500 ไร่) บริษัทท้องถิ่นอีก 2 แห่ง เข้าดำเนินการสวนยางเนื้อที่กว่า 7,000 เฮกตาร์ (กว่า 43,700ไร่) และกว่า 9,000 เฮกตาร์ (กว่า 56,200 ไร่)
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเช่าพื้นที่ของกลุ่มมิเชลิน แต่สำหรับบริษัทเอกชนท้องถิ่นทั้งสองแห่งนั้น ชนะการประกวดราคาโดยทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 99 ปี ด้วยมูลค่า 9 กับ 11 ล้านดอลลาร์
สวนยางของรัฐบาลทั้ง 3 แห่งที่ให้เอกชนเช่าในลอตแรกนี้ จึงมีเนื้อที่รวมกันกว่า 22,000 เฮกตาร์ หรือกว่า 137,500 ไร่
นายจันตงอิว (Chan Tong Iv) ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตร ป่าไม้และการประมง กัมพูชา กล่าวในพิธีส่งมอบดังกล่าวว่า ผู้ลงทุนเอกชนทั้งสามรายได้ตกลงจ้างเจ้าหน้าที่และคนงานที่ทำงานในสวนยางทั้งสามแห่งต่อไป
พิธีส่งมอบพื้นที่สัมปทานให้แกบริษัทเอกชนทั้ง 3 แห่งจัดขึ้นในวันที่ 14 พ.ย.ที่ผ่านมาใน จ.กัมปงจาม รัศมีกัมพูชากล่าว แต่ก็ไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดเกี่ยวกับสวนยางอีกจำนวน 3 แห่งในจังหวัดเดียวกัน ตามที่รัฐบาลประกาศจะให้เอกชนเข้าดำเนินการเมื่อปีที่แล้ว
ในสัปดาห์เดียวกันนี้นักลงทุนจากจีนอีก 1 คณะ ได้เดินทางเข้ากัมพูชาและแสดงความพร้อมที่จะลงทุนถึง 28 ล้านดอลลาร์ในการพัฒนาสวนยางที่ยังไม่ทราบรายละเอียด
ตามรายงานของ AKP คณะนักลงทุนจากมณฑลซานตง (Shandong) ได้เข้าพบนายโสกอานวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา และได้แสดงความสนใจเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าว
นายโสก อาน (Sok An) รองนายกรัฐมนตรี ได้บอกกับแขกจากจีนในโอกาสนี้ว่า ทั่วประเทศกัมพูชาในปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยางพารารวมกันประมาณ 72,000 เฮกตาร์ (450,000 ไร่) ทั้งหมดมีทั้งภายใต้บริษัทของรัฐ และของเอกชน รวมทั้งของนักลงทุนต่างชาติ ด้วย
อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังคงมีการขยายพื้นที่ปลูกยางในกัมพูชาออกไปอย่างกว้างขวาง เนื่องจากยางพาราขายได้ราคาดีในตลาดโลก AKP กล่าว
กัมพูชาได้เป็นเป้าหมายลงทุนด้านการเกษตรที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศใกล้ชิดซึ่งรวมทั้งนักลงทุนไทยด้วย
ตามรายงานของสื่อทางการเมื่อต้นปีนี้บริษัทจากเวียดนาม 2-3 แห่งได้รับอนุมติให้เข้าลงทุนทำสวนยางในพื้นที่นับแสนไร่ในจังหวัดมณฑลคีรี (Mondolkiri) ทาภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ
เจ้าหน้าที่ทางการกัมพูชาเปิดเผยในเดือน ก.ค.ปีที่แล้วเกี่ยวกับแผนการขยายสวนยางของรัฐทั้ง 7 แห่งให้เอกชนเข้าดำเนินการภายในกลางปี 2550 นี้ ด้วยความช่วยเหลือของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ "เอดีบี"
นายลี พัลลา (Ly Phalla) ผู้อำนวยการแผนกยางพารา กระทรวงเกษตรกัมพูชา กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ดำเนินการเรื่องนี้ร่วมกับเอดีบีซึ่งจะเข้าดูแลผลผลประโยชน์ที่จะได้จากการขายสวนยางพาราในทั้งสองจังหวัด
อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกเลย จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
ตามรายงานของสื่อกัมพูชา ก่อนหน้านั้นในปี 2540 รัฐบาลได้ขายสวนยางให้บริษัทเอกชนเจ้าดำเนินการไปแล้วจำนวน 2 แห่ง อยู่ใน จ.รัตนะคีรี (Ratanakiri) หนึ่งแห่ง และ กัมปงจามอีก 1 แห่ง
กลุ่มนักลงทุนจากจีนที่เข้าพบรองนายกรัฐมนตรีกัมพูชาสัปดาห์ที่แล้วไม่ใช่นักลงทุนจากแผ่นดินใหญ่ชุดแรก ที่สนใจเข้าลงทุนทำสวนยางในกัมพูชา
ในเดือน มี.ค.2549 ผู้แทนจากบริษัท Hainan Natural Rubber Industry Group Corp ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรายใหญ่ที่สุดของจีน ได้เซ็นสัญญาโครงการลงทุนทำสวนยางและตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราในกัมพูชาครอบคลุมพื้นที่กว่า 391,678.75 ไร่
สำนักข่าวซินหัวรายงานเรื่องนี้โดยอ้างการสัมภาษณ์นายอู๋ยาหยง (Wu Yarong) ประธานบริษัทไหหนานฯ ซึ่งมีพื้นที่สวนยางมากกว่า 1,562,500 ไร่ ผลิตยางพาราได้กว่า 250,000 ตันต่อปีหรือราวครึ่งหนึ่งของผลิตรวมทั้งหมดของจีน
จีนเป็นผู้นำในการใช้ยางพาราของโลก นำเข้ายางพารามากที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา และในปี 2548 ในจีนใช้ยางพารามากกว่า 2 ล้านตัน แต่ในจีนผลิตได้ปีละ 500,000 ตันเศษเท่านั้น ผู้ผลิตรายใหญ่จึงต้องหาทางขยายการผลิตในต่างแดน
นอกจากกัมพูชาแล้วบริษัทยางพาราของจีนยังเข้าไปทำสวนยางในลาวและพม่าอีกด้วย สำนักข่าวซินหัวรายงานในเดือน ก.ค.ปีที่แล้วว่า บริษัท Yunnan Natural ได้เข้าทดลองปลูกยางพาราในพม่าบนเนื้อที่กว่า 18,750 ไร่ และกำลังขยายเนื้อที่ออกไปเป็น 187,500 ไร่
คาดว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ในจีนจะมีความต้องการยางพารามากถึง 716,000 ตัน ในปี พ.ศ.2553 และ เพิ่มขึ้นเป็น 1.63 ล้านตันในอีก 10 ปีข้างหน้า.