xs
xsm
sm
md
lg

เวียดนามทุบเปรี้ยงสนามบินใหญ่ในภาคเหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#3366FF> ส่วนเช็คอินผู้โดยสารขาออกของท่าอากาศยานโนยบ่ายมีอยู่เท่านี้ ขยายไม่คุ้มค่าและที่นั่นเป็นที่ตั้งของกองทัพอากาศ มีความสำคัญต่อการป้องกันประเทศ จึงต้องไปสร้างสนามบินพาณิชย์ที่ใหม่ </FONT></CENTER>

ผู้จัดการรายวัน -- หลังทำประชาพิจารณ์และศึกษาความพร้อมมาเป็นเวลา 3-4 ปี รัฐบาลเวียดนามได้ตัดสินใจก่อสร้างสนามบินนานาชาติขนาดใหญ่อีก 1 แห่ง ในย่านใจกลางการลงทุนและการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งในภาคเหนือของประเทศ และรองรับผู้โดยสารได้ปีละ 60 ล้านคนขึ้นไป

รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม เหวียนซิงหุ่ง (Nguyen Sinh Hung) ได้รายงานเรื่องนี้ต่อที่ประชุมรัฐสภาเวียดนามเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ เป็นรายงานของสื่อทางการ

รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าวว่า โครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ใน จ.หายเยวือง (Hai Duong) จะทำคู่ขนานไปกับการก่อสร้างสนามบินลองแถ่ง (Long Thanh) จ.ด่งนาย (Dong Nai) การขยายสนามบินเติ่นเซินเญิต (Tan Son Nhat) นครโฮจิมินห์ และสนามบินโนยบ่าย (Noi Bai) กรุงฮานอย

ขณะนี้รัฐบาลกำลังเร่งพัฒนายกระดับสนามบินอีกหลายแห่งในภาคกลางและภาคใต้ ให้เป็นสนามบินนานาชาติทันสมัย รวมทั้งสนามบินด่าหนัง (Danang) สนามบินฝูบ่าย (Phu Bai) ที่นครเหว (Hue) และอีกแห่งที่เกาะฟุก๊วก (Phu Quoc) ในอ่าวไทย

สื่อของทางการไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอันเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้อีก แต่แผนการที่ศึกษาก่อนหน้านี้สนามบินใหญ่ในภาคเหนือจะมีมูลค่าระหว่าง 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เกือบเท่าๆ สนามบินลองแถ่ง ที่จะเป็นศูนย์การบินในภาคใต้ของประเทศ

ศาสตราจารย์เหวียนเท้บ่า (Nguyen The Ba) ประธานสมาคมวางแผนและพัฒนาเขตเมือง บอกกับสำนักข่าวเวียดนามเน็ตในสัปดาห์นี้ ว่า สนามบินแห่งใหม่จะตั้งอยู่ในเส้นทางระหว่างกรุงฮานอยไปยังนครหายฟ่อง (Hai Phong) และรายรอบด้วยเขตอุตสาหกรรมส่งออกในจังหวัดใกล้เคียง

ดร.บ่า กล่าวว่า สนามบินแห่งใหม่ จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่จะติดตามมาเป็นลูกโซ่ ซึ่งจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วย มีความจำเป็นยิ่งที่รัฐบาลจะต้องเร่งการก่อสร้าง

นักวิชาการผู้นี้ กล่าวว่า ระบบการขนส่งทางอากาศในภาคเหนือปัจจุบันประกอบด้วยสนามบินจำนวน 6 แห่ง แต่สนามบินใหญ่ที่สุด คือ โนยบ่ายสามารถรับผู้โดยสารได้ปีละประมาณ 4 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งต่ำมากหากเทียบกับศักยภาพสนามบินในประเทศเพื่อนบ้าน

ท่าอากาศยานดอนเมืองของไทย รับผู้โดยสารได้ถึงปีละ 30 ล้านคน และท่าอากาศยานชางงี ในสิงคโปร์ปีละ 25 ล้านคน โดยไม่ต้องพูดถึงสนามบินสุวรรณภูมิของไทยที่ใหญ่โตและทันสมัยมาก

สมาคมนี้กล่าวว่า ได้เสนอรัฐบาลในปลายปี 2549 โครงการสร้างสนามบินแห่งใหม่นี้ โดยเล็งเห็นศักยภาพของ จ.หายเยวือง ที่ไม่ไกลจากกรุงฮานอย กับนครหายฟ่อง ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมของประเทศ

หายเยวืองรายล้อมด้วย จ.กว๋างนิง (Quang Ninh) บั๊กนิง (Bac Ninh) บั๊กซยาง (Bac Giang) ถายบิ่ง (Thai Binh) ฮุงเอียน (Hung Yen) และ จ.ห่านาม (Ha Nam) ทั้งหมดเป็นเขตเศรษฐกิจการลงทุนของต่างชาติ ที่มีสวนอุตสาหกรรมผุดขึ้นมาแล้วหลายสิบแห่ง

พื้นที่นี้ยังถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตพลังงาน และ อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดทางภาคเหนืออีกด้วย

สมาคมได้จัดประชาพิจารณ์ตลอดจนการประชุมสัมมนาเพื่อถกเถียงเรื่องนี้มานับครั้งไม่ถ้วน เพื่อหาสถานที่ตั้งของสนามบินใหญ่สำหรับภาคเหนือ และบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องกันเลือก จ.หายเยวือง ศ.เท้บ่า กล่าว
<CENTER><FONT color=#3366FF> ยึดทำเล จ.หายเยวืองเป็นที่ตั้งสนามบินใหญ่ในภาคเหนือของประเทศ สื่อของทางการกล่าวว่ารองนายกรัฐมนตรีเวียดนามรายงานเองนี้ต่อที่ประชุมรัฐสภาสัปดาห์ที่แล้ว </FONT></CENTER>
นายฟานวันหงิ (Phan Van Nghi) อดีตผู้อำนวยการสถาบันออกแบบท่าอากาศยาน ในสังกัดกรมใหญ่การบิน (Aviation General Department) กระทรวงกลาโหมเวียดนาม ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เตื่อยแจ๋ (Tuoi Tre) เมื่อต้นปีว่า จ.หายเยวือง เหมาะสมที่สุด

โครงการสนามบินแห่งนี้อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่ เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในเขตที่ราบปากแม่น้ำแดงรอบๆ กรุงฮานอย ซึ่งจะต้องมีขีดความสามารถในการรับ ผู้โดยสารปีละ 60-80 ล้านคน รับส่งสินค้าอีก 1.5-5 ล้านตันต่อปี

สนามบินหายเยวืองจะมีพื้นที่ 3,000-4,000 เฮกตาร์ (18,700-25,000 ไร่) มีทางวิ่งขึ้นลงของเครื่องบิน (รันเวย์) 2-3 ทาง ด้วยมูลค่าก่อสร้าง 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์

ตามแผนการนั้นท่าอากาศขนาดใหญ่ในภาคเหนือแห่งนี้จะต้องเปิดใช้การให้ได้ภายในปี 2563 ปีที่เวียดนามจะเปลี่ยนไปเป็นประเทศอุตสาหกรรม

นายหงิกล่าวว่าถึงแม้โนยบ่าย จะมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ “ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงฮานอย” ก็ตาม แต่ที่นั่นไม่ได้มีคุณสมบัติอะไรที่จะเป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ตามมาตรฐานสากลได้ และไม่สามารถจะขยายได้
<CENTER><FONT color=#3366FF> เจ้าหน้าที่กล่าวว่าสนามบินนานาชาติกรุงฮานอยเป็น นานาชาติ แต่เพียงชื่อ ห้องพักผู้โดยสารขาออกก็อย่างที่เห็นๆ กับอีก 2-3 หย่อมเท่าๆ กันนี้ รับผู้โดยสารไปปีละ 4 ล้านคนเท่านั้น </FONT></CENTER>
“สนามบินเกือบทุกแห่งในเวียดนามสร้างขึ้นเพื่อสนองเป้าหมายด้านการป้องกันประเทศ และสนามบินทุกแห่งก็ถูกสร้างขึ้นมาในช่วงสงคราม สนามบินทุกแห่งในภาคเหนือสร้างขึ้นมาเพื่อการป้องกันเมืองหลวงและโนยบ่ายเป็นสนามบินทหารอันดับหนึ่ง” นายหงิกล่าว

ผู้เชี่ยวชาญคนนี้ยังระบุด้วยว่า โนยบ่ายซึ่งสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2504 เป็นปราการสำคัญของกองทัพอากาศที่ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอื่นได้ ที่นั่นถูกใช้เป็นสนามบินพาณิชย์หลังสงครามสงบลงในปี 2518 มีการขยายครั้งแรกในปี 2521 พยายามขยายอีกครั้งปี 2537 แต่ไม่สำเร็จ

ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีทางวิ่งขึ้นลง 2 ทางแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่พอที่จะสนองความต้องการด้านการบินพลเรือนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งสนามบินจะต้องรองรับผู้โดยสารปีละหลายล้านคน เพราะฉะนั้นความคิดแบบ “2 ใน 1” (Two in One) จึงใช้ไม่ได้อีกต่อไป

ท่าอากาศยานแห่งใหม่ต้องสามารถรองรับเครื่องบินลำตัวกว้างขนาดใหญ่ที่จะผลิตออกสู่ตลาดโลกในอนาคตได้ไม่ว่าจะเป็นแอร์บัส A380 โบอิง 787 ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 500 คนขึ้นไป ซึ่งทำให้ประเทศต่างๆ ต้องสร้างท่าอากาศยานที่ใหญ่โตขึ้น นายหงิกล่าว

สายการบินเวียดนามกำลังขยายฝูงบิน สัปดาห์ที่แล้วเพิ่งเซ็นสัญญาซื้อเครื่องโบอิ้ง 787-8 จำนวน 12 ลำ และ มีกำหนดทำสัญญาซื้อจากค่ายแอร์บัสอีกรวม 30 ลำในเดือน ธ.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น