นักโบราณคดีชาวญี่ปุ่นแถลงในกรุงโตเกียว เมื่อวันพฤหัสบดี (15 พ.ย.) เกี่ยวกับการค้นพบโครงกระดูกปริศนาในหลุมศพโบราณเก่าแก่ประมาณ 2,000 ปี ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของกัมพูชา ซึ่งทำให้เชื่อว่าเคยมีนักรบสตรีในยุคนั้น
ทีมงานได้ขุดโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 35 ชุด ขึ้นจากหลุมศพในเขตภูมิสะไน (Phum Snay) เมื่อต้นปีนี้ เพื่อการศึกษาวิจัย นายโยชิโนริ ยาสุดะ (Yoshinori Yasuda) ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมกล่าว
โครงกระดูกเหล่านั้นน่าจะมีอายุระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 5-1 หรือ ระหว่าง 2,000-1,600 ปี มาแล้ว และทั้งหมดได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นโครงกระดูกของผู้หญิง
สตรีเหล่านั้นถูกฝังพร้อมกับดาบเป็นอาวุธที่ทำจากทองสำริด และยังมีวัตถุที่มีรูปทรงคล้ายหมวกเกราะอีกด้วย
ทีมของ นายยาสุดะ ทำงานให้กับศูนย์วิจัยนานาชาติเพื่อญี่ปุ่นศึกษา (International Research Center for Japanese Studies) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล
นักโบราณคดีผู้นี้ กล่าวว่า การได้เห็นอาวุธ เช่น มีดดาบฝังอยู่กับศพของผู้หญิงนับเป็นสิ่งที่หายากมาก การค้นพบนี้อาจจะแสดงให้เห็นว่า เคยมีนักรบหญิงที่มีบทบาทสำคัญในชุมชนแห่งนั้น ซึ่งอาจจะต้องเรียกว่าวัฒนธรรมที่ค้นพบใหม่
“ปกติสตรีจะมีบทบาทสำคัญในประชาคมที่เกี่ยวกับการปลูกข้าว หรือการจับปลา..มันเป็นความเชื่อเริ่มแรกที่ไปจากทางยุโรปว่าเพศหญิงนั้นอ่อนแอและควรได้รับการคุ้มครอง” นายยาสุดะกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี
ในบรรดาโครงกระดูกที่พบทั้งหมดนั้น มีอยู่ 5 ชุด ที่อยู่ในสภาพดีเยี่ยมเนื่องจากถูกฝังอยู่ในจุดที่ดีของสุสานแห่งนั่น
นักโบราณคดีได้ค้นพบแหล่งฝังศพโบราณที่ภูมิสะไนมาตั้งแต่ปี 2542 แต่เพิ่งจะมีการขุดค้นเป็นครั้งแรก ซึ่งการค้นพบทำให้เชื่อว่าน่าจะมีอีกวัฒนธรรมหนึ่งแทรกอยู่ในสังคมการเกษตรของผู้คนในแถบนั้นเมื่อ 1,500-2,000 ปีก่อน ซึ่งเป็นยุคก่อนเมืองพระนคร (Angkor Wat)