ทางการกัมพูชาไม่อนุญาตให้ นายเขียว สัมพัน (Khieu Samphan) หรือ “เคียว สมพอน” เดินทางไปรักษาพยาบาลในประเทศไทย หลังจากอดีตผู้นำเขมรแดงชรา มีอาการโรคหัวใจกำเริบ และทางการได้นำตัวจากเมืองไพลินไปเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ
มีรายงานก่อนหน้านี้ ว่า คณะกรรมการตุลาการระหว่างประเทศไต่สวนกรณีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในกัมพูชา กำลังจะขอให้ทางการจับกุมนายเคียวอีกคนหนึ่ง หลังจากจับ นายเอียงซารี (Ieng Sary) อดีตผู้นำหมายเลข 1 ของฝ่ายเขมรแดงในอดีตเมื่อวันจันทร์ (12 พ.ย.) และถูกตั้งข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษย์
รองหัวหน้าตำรวจเมืองไพลิน เจีย จันดิน (Chea Chandin) กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ทางโทรศัพท์จากไพลิน เมื่อวันพุธ (14 พ.ย.) ว่า ยังไม่มีการคุมขังนายเคียวแต่อย่างไร และยังไม่มีการจับกุมใดๆ และที่นั่นกำลังเตรียมการเพื่อส่งนายเคียวไปยังโรงพยาบาล
อดีตประธานาธิบดีของรัฐบาลเขมรแดง ที่ได้รับการเรียกขานว่า “พี่ชายหมายเลข 3” ได้ปฏิเสธมาตลอดไม่มีส่วนรู้เห็นใดๆ ต่อการล้มตายของชาวกัมพูชาราว 1.7 ล้านคน ในช่วงเวลา 3 ปีเศษที่รัฐบาลเขมรขึ้นครองอำนาจ
นายนวน เจีย (Nuon Chea) “พี่ชายหมายเลข 2” ที่ใกล้ชิดกับนายพลพต (Pol Pot) หรือ “โปลโป้ท” มากที่สุด ถูกจับกุมก่อนหน้านี้ ส่วน “สหายดุจ” (Duch) หรือ กางแขกเอียว (Kang Khek Eav) อดีตผู้บัญชาการคุกตวลสแลง (Tuol Sleng) กำลังถูกสอบสวน และเชื่อกันว่า จะถูกกันไปเป็นพยาน
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุนเซน กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่นำเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งไปรับนายเคียวจากเมือไพลิน หลังทราบข่าวการล้มป่วย
“ถ้าหากเขาล้มตายไป ประชาชนก็จะโทษรัฐบาล” นายฮุนเซน กล่าว
บุตรีของนายเคียว วัย 24 ปี กล่าวว่า บิดาซึ่งปัจจุบันอายุ 80 เศษ ได้ตกลงจากเปลนอนที่กระท่อมหลังเล็กในไพลิน และได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปหาหมอ
นายเคียว เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล เรียนสำเร็จปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศส ได้พบและเกาะกลุ่มกับนายโปลโป้ท นายเอียงซารี นางเอียงธิริต (Ieng Thirith) กับผู้นิยมลัทธิมาร์กซ์-เลนิน กับนักสังคมนิยมอีกหลายคนในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950
ต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้จัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา และหันไปนิยมลัทธิเหมาเจ๋อตง (Maoism) ตามแบบจีน ทำสงครามกองโจรจนสามารถเอาชนะทำสงครามต่อต้านกับรัฐบาลพล.อ.ลอนนอล (Lon Nol) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ จนได้รับชัยชนะ
นายโปลโป้ท นำพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา ที่ถูกเรียกขานในเวลาต่อมาว่า “เขมรแดง” (Khmer Rouge) ขึ้นจัดตั้งรัฐบาลในกรุงพนมเปญในเดือน เม.ย.2518 เป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์นองเลือดในประเทศนี้
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า มีชาวกัมพูชาเกือบ 2 ล้านคน เสียชีวิตจากการอดอยาก ถูกทรมาน และถูกสังหารโหด โดยพลพรรคเขมรแดง