กรุงเทพฯ-- ทางการสหรัฐฯ ได้แจ้งเตือนเมื่อวันจันทร์ (5 พ.ย.) ให้สิงคโปร์กับธนาคารของประเทศนี้ตัดสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับพม่า หลังจากหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยมานานว่า สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางธุรกรรมนอกประเทศ (offshore banking) ของกลุ่มปกครองทหารพม่า
"เราเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ระบอบปกครองในพม่ามีบัญชีในธนาคารสิงคโปร์" เจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ นางคริสเตน ซิลเวอร์เบิร์ก (Christen Silverberg) กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงเทพฯ ระหว่างตระเวนเยือนประเทศต่างๆ ในเอเชียเพื่อให้แสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นต่อทางการพม่า
ปัจจุบันสิงคโปร์ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการประจำกลุ่มอาเซียนที่มีพม่าร่วมเป็นสมาชิกอยู่ด้วย กลุ่มนี้ได้ออกแถลงการณ์แสดงความ "ขยะแขยง" ต่อการใช้กำลังปราบปรามประชาชนที่เดินขบวนอย่างสงบของทางการพม่าในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา
สหรัฐฯ ต้องการให้สิงคโปร์เพิ่มความแข็งกร้าวอีกหนึ่งขั้น และ ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในรูปของถ้อยคำ คว่ำบาตรด้านการเงิน หรือ การจำกัดการเดินทางเข้าออกของระดับผู้นำตลอดจนบุคคลผู้ใกล้ชิด คล้ายกับที่สหรัฐฯ และออสเตรเลียประกาศใช้เมื่อเดือนที่แล้ว
นางซิลเวอร์เบิร์กไม่ยอมเปิดเผยว่า ขั้นต่อไปสหรัฐฯ จะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อ "ฝ่ายที่สาม" รวมทั้งบรรดาธุรกิจนอกสหรัฐฯ ที่ธุรกิจกับระบอบปกครองในพม่าด้วยหรือไม่ ถ้าหากบรรดานายพลพม่าไม่ยอมรับวิถีทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
"เรื่องนี้ชัดเจน เราได้ขอร้องให้สถาบันการเงินต่างๆ และ รัฐบาลทั่วโลกพิจารณาดูว่าความสัมพันธ์กับพม่ามีส่วนช่วยเกื้อหนุนระบอบทหารนี้หรือไม่"
"เรารู้สึกยินดีที่ทั้งสถาบัน และรัฐบาลประเทศต่างๆ กำลังพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง" นางซิลเวอร์เบิร์กกล่าว
ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่สิงคโปร์จะมากล่าวไม่เห็นด้วยกับการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อพม่า แต่นักวิเคราะห์กับนักการธนาคารกล่าวว่า แบงก์ในสิงคโปร์ได้เริ่มตีตัวออกห่างจากรัฐบาลพม่าอย่างเงียบๆ ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ สายการบินแอร์พุกาม หรือ แอร์บากาน (Air Bagan) ซึ่งต้องงดบินเส้นทางกรุงย่างกุ้ง-สิงคโปร์ ตั้งแต่เดือน พ.ย.นี้เป็นต้นไป
แอร์พุกามเป็นของกลุ่มตู๋ (Htoo Group) กลุ่มธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ ซึ่งเจ้าของคือ นายเตย์ซา (Tay Za) มีความใกล้ชิดผู้นำสูงสุดพม่า ชื่อของสายการบินแห่งนี้ปรากฏในบัญชีดำของสหรัฐฯ เมื่อไม่นานมานี้
หนังสือพิมพ์ทูเดย์ (Today) ในสิงคโปร์รายงานเมื่อวันจันทร์ว่า ผู้โดยสารของแอร์พุกามได้ลดลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่รัฐบาลพม่าปราบปรามผู้เดินขบวนอย่างนองเลือด ส่วนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ต้องหยุดบินก็คือ ธนาคารในสิงคโปร์ได้ตัดสินใจ "ตัดสัมพันธ์ทางธุรกิจ"
สื่อของทางการพม่ารายงานในวันจันทร์ว่า ในวันเดียวกันแอร์พุกามได้ฉลองครบรอบปีที่ 3 การก่อตั้ง และในโอกาสนี้ได้บริจาคเงินให้แก่โรงพยาบาลตลอดจนองค์การทางสังคมหลายแห่ง แต่ไม่การกล่าวถึงการหยุดบินเส้นทางยุ่งกุ้ง-สิงคโปร์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.เป็นต้นมา
ตามรายงานของนิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันของรัฐบาล แอร์พุกามมีโครงการกันเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากตั๋วโดยสารของผู้โดยสารชาวต่างชาติทุกคน และ 500 จั๊ต จากผู้โดยสารชาวพม่าแต่ละคน รวบรวมเป็นเงินบริจาคเพื่อการกุศลดังกล่าว
ปีนี้แอร์พุกามได้บริจาคแห่งละ 5 ล้านจั๊ตให้แก่ โรงพยาบาลเด็ก สถานเลี้ยงดูคนชรา โรงพยาลอีก 1 แห่ง โรงเรียนสอนคนหูหนวกและสถานเลี่ยงเด็กกำพร้าอีก 1 แห่ง
แอร์พุกามยังบริจาคเงินอีก 15,000 ดอลลาร์ให้แก่มูลนิธิเพื่อพัฒนาพม่า (Myanmar Development Foundation) อีกด้วย หนังสือพิมพ์ของทางการกล่าว
สำหรับสิงคโปร์ ถึงแม้ทางการสหรัฐฯ จะระบุว่า ที่นั่นเป็นที่ฝากเงินและยังเป็นปลายทางยอดนิยมสำหรับการช็อปปิ้งและการรักษาพยาบาล ของบรรดาผู้นำทหารกับครอบครัว แต่นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลีเซียนลุง ก็ได้ยืนยันว่าระบบการเงินของประเทศสะอาดโปร่งใส
"เราไม่ได้เล่นกับเงินสกปรก เราไม่ได้สนับสนุนการฟอกเงิน" ผู้นำสิงคโปร์กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็นเมื่อเร็วๆ นี้
กลุ่มรณรงค์เพื่อพม่า (The Burma Campaign UK) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศอังกฤษ ได้จัดทำ "บัญชีสกปรก" โดยมีบริษัทสิงคโปร์อยู่ในนั้นรวม 10 แห่ง ทั้งหมดถูกระบุว่ามีสายสัมพันธ์กับพม่า
ตามรายงานของรอยเตอร์ในบัญชีสกปรกดังกล่าวยังรวมทั้ง กลุ่มดีบีเอสกรู๊ปโฮลดิ้งส์ (DBS Group Holdings) ธนาคารโอเวอร์ซีส์-ไชนีส (Overseas Chinese Banking Corp) ธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ (United Overseas Bank) และกลุ่มเคพเพล (Keppel Corp) ด้วย
ทั้งหมดล้วนเป็นกลุ่มธุรกิจและการธนาคารขนาดใหญ่ในสิงคโปร์ บางแห่งมีรัฐบาลร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย
เมื่อเดือนที่แล้วสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีดำบริษัทธุรกิจเอกชนจำนวน 7 แห่งที่มีสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์ รวมทั้งแอร์พุกามกับบริษัทลูกของกลุ่มตู๋อีกจำนวน 2 แห่งด้วย ทั้งหมดถูกระบุว่าเป็นแหล่งจุนเจือด้านการเงินของผู้นำเผด็จการทหาร