xs
xsm
sm
md
lg

บีบได้บีบไป..เชฟรอนไม่ทิ้งขุมก๊าซพม่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<CENTER><FONT color=#6633FF>แท่นเจาะในอ่าวเมาะตะมะ จะทิ้งขุมพลังงานแห่งนี้ได้อย่างไร<FONT></CENTER>

ผู้จัดการรายวัน-- บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันในพม่าคือ เชฟรอนคอร์ป (Chevron Corporation) ได้ประกาศยืนยันเจตนารมณ์จะไม่ถอนกิจการออกจากหลุมก๊าซยาดานาในพม่า โดยอ้างว่ามีพันธะที่จะต้องสนองความต้องการพลังงานของชาวโลก รวมทั้งต้องรับผิดชอบชีวิตความเป็นอยู่ของชาวพม่าหลายหมื่นคน

เชฟรอนระบุในคำแถลงที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ของบริษัทเมื่อวันพุธ (24 ต.ค.) ระบุว่า บริษัทขอสนับสนุนการเรียกร้องให้หาทางแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันในพม่าอย่างสันติ โดยเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของชาวพม่า

"การคว่ำบาตรที่เรียกร้องให้เชฟรอนขายผลประโยชน์ในหลุมยาดานานั้นจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อกิจการของยาดานาหรือรายได้ของโครงการนี้" เชฟรอนกล่าว ซึ่งเป็นการตอบโต้การออกกฎหมายของ สส.สหรัฐฯ เพื่อบีบให้บริษัทน้ำมันอเมริกันต้องถอนตัวออกจากพม่า

ความเคลื่อนไหวรอบใหม่ในรัฐสภาสหรัฐฯ ที่มี สส.พรรคเดโมแครทที่ครองเสียงข้างมากเป็นหัวหอกนั้น เป็นความพยายามสกัดกั้นถึงแหล่งที่มาของรายได้จุนเจือระบอบทหารพม่า หลังจากมีการปราบปรามประชาชนที่เดินขบวนอย่างรุนแรงในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา

ร่างรัฐบัญญัติที่กำลังนำเข้าสู่การพิจารณาโดยวุฒิสภาในสัปดาห์นี้ ได้มุ่งห้ามนำเข้าสินค้าอัญมณีทุกประเภทเข้าสหรัฐฯ ที่เคยอาศัยช่องโหว่ส่งผ่านประเทศที่สาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ไทย จีนและอินเดีย ซึ่งในแต่ละปีทำรายได้แก่รัฐบาลพม่าเป็นเงินหลายร้อยล้านดอลลาร์

ร่างรัฐบัญญัติยังเพิ่มแรงบีบต่อบริษัทอเมริกันที่ทำธุรกิจกับรัฐบาลทหารพม่า ขณะเดียวกันก็ขึ้นบัญชีดำบริษัทพม่าที่ออกทำธุรกิจในต่างแดน ห้ามบริษัทธุรกิจของสหรัฐฯ ในพม่าโอนเงินที่เป็นผลประกอบการให้แก่รัฐบาลทหาร รวมทั้งการให้เงินกู้ ซึ่งข้อห้ามนี้เชื่อกันว่า เป็นการมุ่งบีบคั้นให้เชฟรอนต้องถอนตัวออกไปจากพม่า

"ถ้าหากเชฟรอนขายผลประโยชน์ของตัวเอง ก็จะทำเงินรายได้มหาศาลนับร้อยๆ ล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาลพม่า และ ยังจะสร้างภาวะล่อแหลมต่อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญจำนวนหนึ่ง (ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ)" เชฟรอนกล่าว

บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ยังอ้างถึงความเห็นของนักวิชาการหรือองค์กรต่างๆ อีกจำนวนหนึ่งที่ว่าความพยายามโดดเดี่ยวพม่าต่อไปนั้นไม่เป็นประโยชน์

"เชฟรอนเชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมนั้นเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน การมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับกระบวนการพัฒนาและส่งเสริมต่างๆ จะยังผลต่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของประชาชนพม่า"

บริษัทเชฟรอนเข้าถือหุ้น 28% ในโครงการก๊าซหลุมยาดานา หลังจากได้เข้าซื้อกิจการของบริษัทยูโนแคลเมื่อปี 2548 โดยมีบริษัทโทเทิล (TOTAL-ฝรั่งเศส) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และ บริษัท ปตท.สผ.ของไทยเป็นหุ้นส่วนอีกรายหนึ่ง

เชฟรอนยังอ้างถึงโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและชุมชนต่างๆ ในพม่าที่อยู่ในความรับผิดชอบ และที่ผ่านมาโครงการพัฒนาได้ส่งผลลัพธ์ในทางบวกมากมาย

เชฟรอนกล่าวว่าปัจจุบันชาวพม่าราว 50,000 คนที่อาศัยอยู่ตามแนวท่อก๊าซได้รับการรักษาพยาบาลฟรี ทำให้มีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น มีแพทย์ 10 คนคอยทำหน้าที่ดูแล และยังมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนขึ้นมาด้วย สิ่งทั้งหมดนี้ล้วนไม่เคยมีมาก่อน

โครงการของเชฟรอนได้ช่วยชาวพม่าหลายหมื่นคนต่อสู้ลดอัตราการเสียชีวิตจากมาลาเรียและวัณโรคมาตั้งแปต่ปี 2545 และยังช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดลงอย่างได้ผล

โครงการก๊าซยาดานาได้สร้างโรงเรียนใหม่กว่า 40 แห่ง บูรณซ่อมแซมโรงเรียนเก่าจำนวน 20 หลังใน 23 หมู่บ้าน อัตราการเข้าเรียนของเด็กเพิ่มเป็น 2 เท่าตัว

เชฟรอนยังอ้างว่าได้อุดหนุนชีวิตความเป็นอยู่ของครูอีก 350 คน จัดทำห้องสมุดให้แก่โรงเรียนกว่า 10 แห่ง มีโครงการให้ทุนการศึกษาแก่เด็กกว่า 1,000 คน และ ให้คอมพิวเตอร์แก่โรงเรียนจำนวน 8 แห่ง

นอกจากนั้นยังมีการบูรณะถนนและสร้างสะพานกว่า 40 แห่ง อันเป็นระบบคมนาคมขนส่งที่เกือบจะไม่มีอยู่เลยก่อนจะมีการก่อสร้างท่อก๊าซ

บริษัทดังกล่าวหมายถึงท่อส่งก๊าซ ที่ทอดยาวจากอ่าวเมาะตะมะผ่านเขตป่าเขาในรัฐกะเหรี่ยง มุ่งสู่ชายแดนไทย นำก๊าซไปป้อนโรงไฟฟ้าราชบุรี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ปตท.สผ. ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.ปตท. ร่วมถือหุ้นอยู่ในหลุมยาดานาด้วย และ ก๊าซที่ผลิตได้เกือบทั้งหมดส่งจำหน่ายให้แก่ประเทศไทย

เชฟรอนกล่าวว่าในปัจจุบันโครงการท่อส่งก๊าซนี้ ได้เกื้อหนุนเงินกู้สำหรับธุรกิจขนาดย่อมรวมเป็นจำนวน 6,300 โครงการ ซึ่งได้ช่วยสร้างการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาในท้องถิ่นต่างๆ

เชฟรอนยังให้การสนับสนุนแก่ PACT ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่สังกัดรัฐบาลระดับโลกในการต้อสู้กับวัณโรคและโรคเอดส์ในภูมิภาคต่างๆ ในพม่าซึ่งได้ผลดีอย่างมากในหมู่บ้านต่างๆ ภายใต้โครงการ ปัจจุบัน PACT สามารถขยายเครือข่ายการปฏิบัติได้ 3 เท่าตัว ปัจจุบันครอบคลุม 2,122 หมู่บ้านชนบทใน 15 เขตเมือง รวมประชากรราว 1.8 ล้านคน

เชื่อว่าวุฒิสภาจะอนุมัติผ่านร่างรัฐบัญญัติคว่ำบาตรรัฐบาลทหารพม่าฉบับใหม่ ก่อนปิดสมัยประชุมสามัญฤดูหนาว ในปลายเดือน พ.ย.นี้

ร่างรัฐบัญญัติได้มุ่งห้ามนำเข้าอัญมณีพม่า โดยผ่านประเทศที่สาม แต่ก็ยังครอบคลุมไปถึงการห้ามบริษัทสหรัฐฯ โอนถ่ายทรัพย์สิน เงินรายได้ หรือกระทั่งเงินกู้ไปสู่มือรัฐบาลทหารพม่า บริษัทสหรัฐฯ ที่มีกิจการในพม่าจะถูกเก็บภาษีเงินได้และภาษีอื่นๆ ในอัตราที่สูงมากในสหรัฐฯ

มาตรการคล้ายกันนี้เคยนำออกบังคับใช้กับบริษัทอเมริกันในแอฟริกาใต้ในยุคที่สหรัฐฯ ต่อต้านรัฐบาลเหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติในประเทศนั้น ซึ่งได้ส่งผลทำให้บริษัทส่วนใหญ่เลือกที่จะขายกิจการและถอนตัวออกไปแทนการแบกรับภาระทางภาษี.
กำลังโหลดความคิดเห็น