เทศกาลประชุมแบน (Pchum Ben) หรือ "ประชุมบรรดา" (Prachum Bandar) เริ่มขึ้นแล้วในกัมพูชา และ จะดำเนินไปจนถึงวันแรม 15 ค่ำ ที่รออยู่ข้างหน้า
นี่เป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่มีชีวิตชีวาและมีความหมายอย่างมากต่อสังคมครอบครัวในประเทศนี้
ชาวกัมพูชาเชื่อว่า เมื่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลายตายแล้วย่อมต้องกลับมาเกิดใหม่เพื่อชดใช้กรรมชั่วที่ได้เคยทำไว้ แต่ยังมีวิญญาณบางดวงที่วนเวียนอยู่ในโลกแห่งวิญญาณเป็น "เปรต" (Pret) ดังนั้นในแต่ละปี ดวงวิญญาณเหล่านี้จะถูกปลดปล่อยให้ออกไปเป็นระยะเวลา 15 วัน เพื่อไปหาญาติมิตรที่ยังมีชีวิตอยู่
ในขณะเดียวกัน คนบนโลกมนุษย์ก็จะใช้ช่วงเวลาดังกล่าวระลึกถึงบรรพบุรุษ และส่งมอบอาหารให้แก่ดวงวิญญาณที่ยังไม่ได้ผุดได้เกิด นอกจากนั้น ยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จะได้ช่วยอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วด้วยด้วย เพื่อที่บรรพบุรุษจะได้ไปเกิดใหม่ และหลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานและความหดหู่ของโลกแห่งภูตผี
เทศกาล "ปจุมแบน" มีหมายความว่า “การประชุมกันเพื่อเซ่นไหว้” (Prachum แปลว่า “ประชุม” และ bendar แปลว่า “เครื่องเซ่นไหว้”) จัดขึ้นตั้งแต่แรม 1 ค่ำถึงวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 ทุกปี ตามปฏิทินจันทรคติ
ในวันสุดท้าย ซึ่งเป็นวันปจุมแบน จะถือเป็นงานบุญใหญ่ ชาวบ้านจะไปร่วมพิธีกรรม ณ วัดประจำท้องถิ่น โดยช่วง 14 วันก่อนหน้านั้น แต่ละครอบครัวในหมู่บ้านจะผลัดกันไปเป็นเจ้าภาพทำบุญที่วัด ซึ่งในระยะนี้รู้จักกันว่า "กานแบน" (Kann Ben) หรือ มีความหมายว่าการจัดเครื่องเซ่นของถวาย บรรดาญาติมิตรก็จะมาร่วมกันจัดเตรียมงานที่วัด โกศที่เก็บเถ้าอัฐิของบรรพบุรุษมาเช็ดถูทำความสะอาดและนำมาไว้ที่โบสถ์วิหารของวัด
นอกจากนี้ยังต้องมีการเขียนชื่อบรรพบุรุษและผู้ที่ล่วงลับไปแล้วไว้ในรายชื่ออัญเชิญด้วย ซึ่งขั้นตอนนี้ก็ถือว่าสำคัญมากเพราะถ้าพลาดไปดวงวิญญาณจะไม่ได้รับส่วนบุญที่ญาติทำถวาย ตกเย็นครอบครัวเจ้าภาพ พระสงฆ์ และคนอื่นๆ จะมารวมกันที่วิหารในวัดเพื่อสวดมนต์ภาวนา ฟังเทศน์ ฟังธรรม รับศีล
ก่อนตะวันรุ่งในตอนเช้าของวันกานแบนในแต่ละวัน ก็จะเริ่มต้นด้วยการจัดเตรียมอาหารสำหรับถวายดวงวิญญาณบรรพบุรุษ และอาหารที่เป็นสัญลักษณ์ในเทศกาลนี้ก็จะเป็นพวก ข้าวต้มมัดไส้ต่างๆ ของตกแต่ง และห่อหมกเนื้อปลาปรุงรสผสมเครื่องเทศและผักหอมปรุงรส
จากนั้นก่อนถึงเวลาเที่ยงวัน ก็จะมีการจุดธูปเทียนบูชาพร้อมกับนำภัตตาหารต่างๆ ที่ได้จัดเตรียมไว้นั้นมาถวายแด่พระสงฆ์ นำชื่อบรรพบุรุษที่เขียนเตรียมไว้มาอ่านและเผา ซึ่งพิธีกรรมในส่วนนี้ก็เพื่ออัญเชิญดวงวิญญาณให้กลับมาหาครอบครัว
หลังจากที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเรียบร้อยแล้ว ก็จะสวดมนต์ให้ศีลให้พร ประพรมน้ำมนต์ให้กับผู้เข้าร่วมพิธีกรรม และเหล่าดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่มาเยือนด้วย ดังนั้นวันกานแบนนอกจากเป็นช่วงเวลาที่ย้ำเตือนให้ระลึกถึงบรรพบุรุษแล้ว ยังเป็นโอกาสเพื่อสั่งสมกรรมดีแทนบรรพบุรุษด้วย
พิธีกรรมกานแบนจะจัดติดต่อกันตลอดเวลา 14 วัน พอถึงวันที่ 15 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลปจุมแบนชาวบ้านในท้องถิ่นทุกคนจะมาร่วมพิธีกรรมระลึกถึงบรรพบุรุษและจัดเลี้ยงอาหารจำนวนมาก ซึ่งวันนี้ถือว่ามีความสำคัญมากเป็นพิเศษเพราะถ้าเหล่าดวงวิญญาณของบรรพบุรุษโชคร้ายได้รับไปส่วนบุญส่วนกุศลไม่เพียงพอ พวกเขาเหล่านั้นจะต้องกลายไปเป็น "เปรต" มันจึงเป็นเพียงวันเดียวที่ดวงวิญญาณทั้งหลายจะได้รับอาหารและผลบุญจากญาติๆ
เปรตเป็นวิญญาณที่เชื่อว่าต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานมากที่สุดเนื่องจากมีผลกรรมจากการทำความชั่วร้ายแรง ซึ่งแตกต่างจากดวงวิญญาณประเภทอื่น เพราะเปรตจะกลัวแสงสว่าง และสามารถรับผลบุญได้เพียงวิธีเดียวคือ ผ่านการสวดมนต์ภาวนา อาหาร และจะสามารถมารวมตัวกับบุคคลที่ยังมีชีวิตอยู่ได้เฉพาะในวันปจุมแบน ในคืนเดือนมืดข้างแรมเท่านั้น
การเข้าร่วมเทสกาลปจุมแบนเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับวัฒนธรรมของกัมพูชา เป็นช่วงเวลาแห่งการพบปะและเฉลิมฉลองร่วมกัน เป็นช่วงเวลาสำหรับแสดงความรักและความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ การถวายอาหารและอุทิศส่วนกุศลสามารถช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของบรรพบุรุษ และนำทางสู่การกลับไปเกิดใหม่อีกครั้ง.