xs
xsm
sm
md
lg

นาทีระทึก?! ชายปริศนาตายในย่างกุ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



เพิ่งมีการยืนยันว่าชาวญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในกรุงย่างกุ้งเมื่อวันพฤหัสบดี (27 ก.ย.) นี้ เป็นช่างภาพข่าวที่ทำงานให้กับสำนักข่าวเอพีเอฟ (APF) ขณะที่สถานทูตญี่ปุ่นในกรุงย่างกุ้งกำลังสอบสวนหารายละเอียดเกี่ยวกับการตายของเขา

ภาพที่นำออกเผยแพร่โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ในวันเดียวกัน ได้แสดงให้เห็นชายวัยกลางคนคนหนึ่งได้รับบาดเจ็บนอนอยู่บนพื้นถนน พร้อมกล้องถ่ายรูป ขณะที่ทหารคนหนึ่งในชุดเขียวถือปืนยืนอยู่ใกล้ๆ และ ตำรวจปราบจลาจลในชุดสีฟ้าเข้ม อีกคนหนึ่งกำลังควงกระบองเข้าขับไล่ฝูงชนอยู่ข้างหน้า

ในภาพอีกภาพหนึ่งชายคนดังกล่าวยังคงเคลื่อนไหว คล้ายกับจะขอความช่วยเหลือจากทหาร และในอีกภาพหนึ่งชายคนเดียวกันนอนแน่นิ่งไม่ไหวติง ทหารในชุดเขียวไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ

ชายคนดังกล่าวตัดผมสั้น หน้าตาคล้ายชาวจีนหรือชาวญี่ปุ่น สวมกางเกงขาสั้น เสื้อแขนสั้น รองเท้าแตะ

โฆษกสำนักข่าวเอพีเอฟในกรุงโตเกียวกล่าวว่าได้รับรายงานจากสถานทูตและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลว่า พบหนังสือเดินทางของประเทศญี่ปุ่นในกายของนายเคนจิ นางาอิ (Kenji Nagai) วัย 52 ปี ซึ่งทำงานให้กับเอพีเอฟโดยเจ้าตัวเดินทางเข้ากรุงย่างกุ้งเพียง 2 วันก่อนหน้านั้น

นายนางาอิทำงานเป็นรายชิ้นให้แก่เอพีเอฟ เขาจะถูกส่งตัวไปถ่ายภาพทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวให้กับสำนักข่าวแห่งนี้ในเหตุการณ์สำคัญที่เสี่ยงอันตรายอยู่เสมอๆ ในหลายประเทศทั่วโลก จนกระทั่งสิ้นชื่อในกรุงย่างกุ้ง

ช่างภาพคนนี้นับเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่เสียชีวิตจากการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงของรัฐบาลทหารพม่า

โทรทัศน์ของทางการพม่ารายงานในข่าวภาคค่ำว่า ชาวญี่ปุ่นคนนี้เดินทางเข้าพม่าโดยใช้วีซ่านักท่องเที่ยว แต่ได้เข้าไปถ่ายรูปในที่ชุลมุลและยังเข้าไปปะปนอยู่ในฝูงชนที่ชุมนุมประท้วงอีกด้วย

โทมรทัศน์ของทางการกล่าวด้วยว่านายนางาอิเป็นผู้เคราะห์ร้ายหนึ่งในจำนวน 9 รายที่เสียชีวิตในระหว่างการปราบปราม ซึ่งทำให้ผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บ 11 คน เป็นหญิง 1 คน ส่วนฝ่ายทหารตำรวจบาดเจ็บกว่า 30 นาย

"รัฐบาลพม่าได้กล่าวกับสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงย่างกุ้งว่า ชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเสียชีวิต" เจ้าหน้าที่ทางการญี่ปุ่นกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี (AFP) ในกรุงโตเกียวก่อนหน้านั้น โดยสถานทูตญี่ปุ่นได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปยังโรงพยาบาลเพื่อพิสูจน์ทราบสัญชาติอันแท้จริง

ไล่ล่าปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในกรุงเก่าย่างกุ้งที่ดำเนินติดต่อกันมาเป็นวันที่สิบ ซึ่งสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ากระทั่งตกเย็นก็ยังได้ยินเสียงปืนอยู่ในย่านมหาบันทุลา (Mahabandoola) ของกรุงเก่าย่างกุ้ง

รอยเตอร์รายงานก่อนหน้านี้ว่า มีชาวต่างชาติอย่างน้อย 1 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 4 คนช่วยกันหามออกจากจุดปะทะขับไล่ผู้เดินขบวนที่บริเวณสี่แยกวัดมหาเจดีย์สุเล เมื่อวันพฤหัสบดีนี้

มีชาวต่างชาติหลายรายไปเฝ้าติดตามการปราบปรามพระสงฆ์และกลุ่มผู้ประท้วงในกรุงย่างกุ้งเมื่อวันพุธ

ในวันพฤหัสบดี (27 ก.ย.) รัฐบาลญี่ปุ่นได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตพม่าประจำกรุงโตเกียวเข้าพบ เพื่อประท้วงต่อการปราบปรามของรัฐบาลทหารพม่าอย่างเป็นทางการ

"สิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรกำลังเกิดขึ้นในพม่า...พวกเราต้องพิจารณาว่าเราควรทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น" นายยาซูโอะ ฟูคูดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นกล่าวกับผู้สื่อข่าว ก่อนที่นายซอหลามิน (Saw Hla Min) เอกอัครราชทูตพม่า จะเดินทางไปยังกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นในตอนค่ำ

อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เกี่ยวข้องกันคือ สำนักข่าวเกียวโดรายงานเมื่อวันพฤหัสบดีนี้ว่า ทางการพม่าได้ไล่นักข่าวญี่ปุ่นอีก 2 คน ออกจากประเทศ ในวันพุธ (26 ก.ย.) ที่ผ่านมา โดยทั้งสองประจำอยู่ในกรุงเทพฯ

พม่าแทบจะไม่เคยออกวีซ่าทำงานให้แก่นักข่าวคนใด และสถานทูตพม่าทั่วโลกมีบัญชีดำรายชื่อนักข่าว ซึ่งไม่ได้รับอนุญาตแม้แต่วิซ่านักท่องเที่ยว

คาซุยะ เอนโดะ (Kazuya Endo) จากสำนักข่าวเกียวโด และ โคจิ ฮิราตะ (Koji Hirata) ของหนังสือพิมพ์จุนอิชิ ชิมบุน (Chunichi Shimbun) ถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าส่งตัวไปยังสนามบินในวันเดียวกันเพื่อเนรเทศ

ผู้นำพม่ากล่าวหาว่า สื่อต่างประเทศตีพิมพ์แต่เรื่องโกหกเกี่ยวกับการปราบปรามกลุ่มผู้เดินขบวนประท้วงของรัฐบาล.
กำลังโหลดความคิดเห็น