ผู้นำสูงสุดของพม่ากำลังถูกกดดันให้ตัดสินใจ เพื่อรับมือกับสถานการณ์เดินขบวนประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่รุนแรงที่สุดในรอบ 19 ปี และ ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางในสัปดาห์นี้
“ตานฉ่วย” (Than Shwe) เกิดเดือน ก.พ. พ.ศ.2476 ในยุคที่ประเทศตกอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดินิยมอังกฤษ และ ทำงานเป็นเสมียนที่สำนักงานไปรษณีย์ก่อนที่จะเข้าร่วมกองทัพในปี 2496
นายทหารหนุ่มได้รับการเลื่อนขั้นจนกระทั่งได้เป็นผู้บัญชาการระดับสูง และ ในที่สุดในปี 2535 ก็ได้เป็น “พลเอกอาวุโส” (Senior General) ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวในกองทัพแทน พล.อ.ซอหม่อง (Saw Maung) ซึ่ง “เกษียณอายุราชการ” ก่อนกำหนดเนื่องจาก “ปัญหาสุขภาพ”
การรัฐประหารและปลดนายพลคนเก่าลงจากอำนาจในปีนั้น นายพลตานฉ่วยได้ประกาศว่า "ทหารพม่าจะยึดอำนาจไว้เพียงชั่วคราวเท่านั้น" เหตุการณ์นี้จึงทำให้ประชาชนเกิดความหวังว่าจะมีประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้นในพม่า
อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน กลับถูกควบคุมตัวไว้ในบ้านพักตั้งแต่นั้นมา
ผู้นำอาวุโสปรากฏตัวต่อสาธารณชนน้อยครั้ง และ ส่วนใหญ่จะอยู่ในเครื่องแบบทหารทุกครั้ง มีเพียงภาพวีดีโอเทปงานแต่งงานของลูกสาวในปี 2549 เท่านั้น ที่ตานฉ่วยอยู่ในภาพลักษณ์ที่แตกต่างออกไป
ในวีดีโอเทปความยาว 10 นาทีซึ่งถูกนำออกเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต เป็นภาพท่านผู้นำเดินตัวตรงเข้าไปหาลูกสาวที่อยู่ในชุดประเพณีนิยมสีขาว และสวมผ้าถุง (longgyi)
งานแต่งบุตรีของท่านผู้นำ จัดขึ้นอย่างหรูหราฟู่ฟ่า ขณะที่ประชาชนพม่ากว่า 53 ล้านคน ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในเอเชีย
เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า พล.อ.อาวุโสตานฉ่วย ไม่ชอบนางอองซานซูจีเอามากๆ ถึงขั้นเคยเดินออกจากการประชุมร่วมกับคณะทูตต่างชาติ สาเหตุเพียงเพราะมีการกล่าวถึงชื่อผู้นำฝ่ายค้านในพม่าเท่านั้น
มีข่าวลือหลายครั้งว่า พล.อ.ตานฉ่วยมีปัญหาสุขภาพขั้นร้ายแรงและเสียชีวิตอย่างกะทันหัน อย่างไรก็ตามไม่เคยมีการยืนยันว่าข่าวดังกล่าวเป็นจริง
ล่าสุดในงานวันชาติพม่าใน ม.ค.ปีนี้ พล.อ.ตานฉ่วยไม่ได้ไปร่วมงาน ซึ่งนับเป็นครั้งแรก
ท่านผู้นำได้เดินทางอย่างลับๆ ในวันที่ 31 ธ.ค.2549 ไปยังสิงคโปร์ ซึ่งกล่าวกันว่าเพื่อรักษาโรคมะเร็งลำไส้ที่โรงพยาบาลชื่อดัง ท่ามกลางข่าวเล่าลือว่าท่านผู้นำได้ถึงแก่กรรมแล้ว
พล.อ.ตานฉ่วยใช้เวลาอยู่ในสิงคโปร์เกือบ 3 สัปดาห์ และเดินทางกลับพม่าในปลายเดือน ม.ค.ปีนี้ ก่อนจะเข้าร่วมงานเลี้ยงสำคัญอีกงานหนึ่ง ซึ่งมีการเผยแพร่ภาพของผู้นำในอิริยาบถต่างๆ อย่างแพร่หลาย เพื่อลบล้างข่าวลือ.